ดูเงื่อนไขเต็มๆ "ดิจิทัลวอลเล็ต" แต่ยังกำหนดวันจ่ายเงินไม่ได้ "จุลพันธุ์" เผยต้องรอพัฒนาระบบ ย้ำไตรมาส4 ปีนี้ได้ใช้เงินแน่!

View icon 49
วันที่ 23 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ดิจิทัลวอลเล็ต” เงินถึงมือประชาชนไตรมาส 4 เช็กเงื่อนไขเต็มๆ ที่นี่

วันนี้ (23 เม.ย.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันชี้แจงสื่อมวลชนหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า การจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถระบุวันที่ชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบ ต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้แอปพลิเคชันมีความเสถียรและปลอดภัย แต่ขอให้ประชาชนเบาใจ ยังอยู่ในกรอบระยะเวลา เปิดให้ลงทะเบียนไตรมาส 3 และ เงินถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้เช่นเดิม

นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า จะส่งไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องข้อห่วงใยของ ธกส. เกี่ยวกับกรอบอำนาจหน้าที่ ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ และ ขอยืนยันว่า ธกส. มีสภาพคล่องเพียงพอ พร้อมชี้แจงด้วยว่า ธกส. หรือ สหภาพ ธกส. ไม่ได้ถามเรื่องสภาพคล่องด้วย แต่ได้สอบถามหลายประเด็นซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวานนี้ ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดี และ สหภาพ ธกส. พร้อมที่จะเดินหน้าตามนโยบายนี้ เนื่องจากเป็นประโยชน์กับเกษตรกร

สำหรับกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านวอลเล็ต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

- วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศราฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
- กลุ่มเป้าหมาย ต้องมีคุณสมบัติ เช่น มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 480,000 บาทต่อปีภาษี และ เป็นผู้มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท
- แนวทาง การเข้าร่วมโครงการฯ เช่น กลุ่มผู้ใช้สิทธิต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และใช้แอปพลิเคชันเพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน
- เงื่อนไขการใช้จ่าย เช่น ให้ประชาชนใช้จ่ายแบบพบหน้า (Face to Face) เพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่เท่านั้น (การใช้จ่ายรอบที่ 1) แต่ไม่รวมถึงบริการทั้งนี้ ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ
- เงื่อนไขการถอนเงินสด จากโครงการฯ ของร้านค้า เช่น ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย
- หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนร้านค้า
- แหล่งเงิน ในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
(1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท
(3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
- ระยะเวลา การดำเนินโครงการฯ ต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569