สสส.เผยเด็กไทย กว่า 54% เข้าถึงสื่อลามก โดนไซเบอร์บุลลี

View icon 160
วันที่ 6 ก.พ. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สสส.เผยข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต พบคนไทยเข้าถึงอินเทอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก เด็กไทยเข้าถึงสื่อลามกกว่า 54%

วันนี้ (6 ก.พ.67) นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าจากข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต โดย Digital 2023 Global Overview Report พบคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 85% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการเข้าถึงเพียง 64.4%

โดยกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ เด็กและเยาวชน โดยมีเด็กเคยเห็นสื่อลามกอนาจารถึง 54% เป็นที่น่ากังวล ในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารที่แสดงโดยเด็ก และ 26% เด็กเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีปัญหาข่าวลวง การถูกหลอกลวงด้วยมิจฉาชีพ การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่ก่อพฤติกรรมความรุนแรง และความเสี่ยงทางสุขภาพ

ทุกวันนี้เด็กต้องประสบปัญหาภัยออนไลน์ไม่ต่างจากผู้ใหญ่  สสส. เร่งสานพลัง มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย TikTok และภาคีเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศ (Thailand Safe Internet Coalition) จัดกิจกรรมวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ Safer Internet Day พร้อมเสวนา #HappinessHappyNet ออนไลน์สุขใจ ความสุขในยุคดิจิทัล มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เสริมพลังคนทุกช่วงวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่เท่าทัน และใช้สื่ออย่างมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น ควบคู่กับการสร้างปัจจัยแวดล้อม เพิ่มพื้นที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ พร้อมสื่อสารและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อและข้อมูลสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการสร้างแนวปฏิบัติทางสังคม (Norm) ในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์

นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสให้เด็ก ทั้งด้านการเรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร การแสดงออก การมีตัวตน แต่ความเสี่ยงในโลกออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม

สิ่งสำคัญคือ สิทธิเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง การจัดงานครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มของทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมความรู้ด้านดิจิทัล แนวปฏิบัติที่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชันพรีมิโร ระบบสารสนเทศออนไลน์ ช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกล่วงละเมิด ลดความเสี่ยงและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต เด็กและเยาวชนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง การสร้างเนื้อหาเชิงบวก และการสนับสนุนความร่วมมือกับสังคมรอบข้างส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและครอบคลุม นำไปสู่โลกดิจิทัลที่ปลอดภัย และมีความสุข เพื่อเด็กทุกคน (For every child)

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ผลักดัน พ.ร.บ.ลงโทษคนที่ล่อลวงเด็ก หรือครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (grooming) กฎหมายควบคุมดูแลภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากโลกไซเบอร์ ให้มีโทษความผิดเสมือนการทำอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-15 ปีและปรับตั้งแต่ 1.4–5 แสนบาท

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา พร้อมสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติเร่งสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันภัยออนไลน์แก่ประชาชน เช่น มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ลงทุน โอนเงิน ต้องมีสติ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่กลัว เมื่อเกิดเหตุให้รีบแจ้งอายัดบัญชีธนาคาร ขอคำปรึกษา แจ้งเบาะแสที่เบอร์ 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com