ปลายทาง บิ๊กโจ๊ก-บิ๊กต่อ จบอย่างไร

View icon 546
วันที่ 20 เม.ย. 2567
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ผลพวงที่เกิดจากการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในคดี "BNK Master" เกี่ยวพันกับเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คณะพนักงานสอบสวน ต้องส่งสำนวนคดีไปให้ ป.ป.ช. พิจารณา เมื่อเรานำผลพวงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ 2 บิ๊กตำรวจ ไปถามในมุมมองของคนนอก ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่า คงจบไม่สวยทั้งคู่

พนักงานสอบสวนคดีเว็บฯ พนัน "BNK Master" หอบลังกระดาษขนาดใหญ่ บรรจุเอกสาร 9 แฟ้ม เป็นสำนวนคดี และพยานหลักฐานที่ได้จากการรวบรวมข้อมูล และผลการสอบปากคำที่ผ่านมา มามอบให้ตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รับไปตรวจสอบดำเนินคดีต่อ

หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายให้นำสำนวนคดีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 แผ่น มาส่งมอบให้ ป.ป.ช. พิจารณา

จึงเท่ากับว่าคดีนี้ตำรวจนครบาลไม่มีอำนาจในการสอบสวนแล้ว ดังนั้น วันที่ 27 เมษายน "บิ๊กโจ๊ก" ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าให้การเพิ่มกับตำรวจอีก สามารถเข้าให้การกับ ป.ป.ช. ได้ หรือหากนำคำให้การมามอบ ตำรวจก็จะนำมาส่งให้ ป.ป.ช. รับไปพิจารณา

ส่วนความเคลื่อนไหวของ "บิ๊กโจ๊ก" นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ หนึ่งในทีมทนายความ ยอมรับว่า ตอนนี้เริ่มมีการพูดคุยเรื่องการอุทธรณ์คำสั่ง "ให้ออกจากราชการ" บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้คุยกับ "บิ๊กโจ๊ก" โดยตรง เพราะอยู่ต่างจังหวัด เบื้องต้นจะรอนำหนังสือมาดูรายละเอียด ก่อนยื่นอุทธรณ์ไปตามช่องทางที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กำหนด ส่วนจะต้องฟ้องศาลปกครองหรือไม่ มองว่ายังไปไม่ถึงขั้นนั้น

จากเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น สอบถามความเห็นในมุมคนนอกอย่าง พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่าจริง ๆ แล้วคำสั่งให้ออกจากราชการ "บิ๊กโจ๊ก" ล่าช้าเกินไป และที่ทำเพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเท่านั้น

ขณะเดียวกันมองว่า นี่ยังไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับตำรวจทั้งหมด เพราะยังมีตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาอีกหลายคดี ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ถูกให้ออกจากราชการเหมือนอย่างกรณีของ "บิ๊กโจ๊ก"

ส่วน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่าปลายทางของ "สองบิ๊กตำรวจ" จบไม่สวย สำหรับ "บิ๊กโจ๊ก" ใช้คำว่า "มันจบแล้วครับนาย" ส่วน "บิ๊กต่อ" ก็คงต้องช่วยราชการไปจนเกษียณอายุราชการ

นอกจากนี้ยังเห็นด้วยว่า อยากให้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการกับตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกนาย ไม่เช่นนั้นก็จะถูกมองว่า เป็นเพียงการทำกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อล้างแค้นเอาคืนเท่านั้น