สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 164
วันที่ 28 มี.ค. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.25 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังฮอลล์ 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 โดยกระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Booklympics" มาจากคำว่า "Book" และ "Olympics" เพื่อต้อนรับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันอ่านมากขึ้น ในงานมีนิทรรศการที่น่าสนใจ และมีกิจกรรมที่ล้อไปกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก คือ การแข่งขันเกี่ยวกับหนังสือ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการออกแบบปก ด้านการคิดเค้าโครงเรื่อง ด้านการตรวจคำผิด ด้านการขาย และด้านการอ่าน

โอกาสนี้ พระราชทานประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการคุณ และประกาศนียบัตรแก่ผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2567 จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จัดประกวด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อกระจายหนังสือดี มีคุณภาพสู่สาธารณชน ปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ส่งหนังสือเข้าประกวด 338 เรื่อง จาก 90 สำนักพิมพ์ แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่าง ๆ ได้แก่ สารคดี, นวนิยาย, กวีนิพนธ์, รวมเรื่องสั้น, หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี, หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี, หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี, หนังสือการ์ตูน, นิยายภาพ และหนังสือสวยงาม มีหนังสือได้รับรางวัล 56 เรื่อง แยกเป็น รางวัลดีเด่น 14 เรื่อง รางวัลชมเชย 42 เรื่อง

ในงานยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจ เช่น นิทรรศการ "บันทึกเมืองแมว" (Cat Country) พระราชนิพนธ์แปล ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนวนิยายสะท้อนสังคมที่มีหลากหลายมิติของความรักชาติ, นิทรรศการหนังสือ "บันทึก นึกอร่อย" ของท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล และนิทรรศการหนังสือ "ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" บันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมาย ตั้งแต่ พ.ศ.2482-2566 โอกาสนี้ ทรงซื้อหนังสือ "บันทึก นึกอร่อย" และ "ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" จากนั้น ทรงบริจาคหนังสือพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง "ขบวนการนกกางเขน" ลงในตู้รับบริจาค เป็นเรื่องการผจญภัยของเด็ก 8 คนที่ต่างกันทั้งฐานะ เชื้อชาติ บุคลิก และนิสัย แต่มารวมกลุ่มกันได้อย่างไร้ปัญหา แสดงให้เห็นความผูกพันและมิตรภาพที่มิได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ภาษา หรือแม้แต่วิถีชีวิตของแต่ละคน หลังจากจบงานนี้แล้ว สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ จะทำการคัดแยกหนังสือที่ได้รับบริจาค ส่งไปยังห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

สำหรับการออกร้านจำหน่ายหนังสือครั้งนี้ มีมากกว่า 1 ล้านเล่ม จาก 400 สำนักพิมพ์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและเลือกซื้อหนังสือ ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2567

เวลา 14.18 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังห้องประชุมใหญ่ อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรด้านการแพทย์ การพยาบาล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวม 507 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทความว่า "ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องอาศัยผู้รอบรู้ในสรรพวิทยาการต่าง ๆ เป็นกำลังสำคัญ ดังเช่นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีความรู้สูง ย่อมสามารถประกอบกิจการงาน สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ประเทศชาติได้ โดยอาศัยความรู้ที่เล่าเรียนมา แต่การจะทำสิ่งใดโดยใช้ความรู้เพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่สำเร็จราบรื่นเสมอไป จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องมีความรอบคอบ รู้จักกาลเทศะ และยึดหลักศีลธรรมเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามด้วย หากบัณฑิตรู้จักใช้ความรู้และคุณสมบัติในตนให้เป็นประโยชน์ ก็จะสามารถบรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่หากนำความรู้ไปใช้ในทางที่เป็นโทษ โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อการทำชั่วทำผิด ก็จะเกิดความเดือดร้อนเสียหายทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม จึงขอให้บัณฑิตทุกคนตั้งใจประพฤติตนปฏิบัติงาน ด้วยความรู้และคุณสมบัติทั้งปวง ให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์แก่ตนเองและชาติบ้านเมือง สมกับที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ"

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ก่อตั้งในปี 2553 จากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนระดับ ปริญญาตรี 13 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 3 หลักสูตร ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล, คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ, วิทยาลัยพัฒนามหานคร และวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพประชาชนเขตเมืองแบบบูรณาการ: ดุสิตโมเดล ภายใต้แนวคิด เข้าถึงง่าย ไร้รอยต่อ "ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ปลอดภัย เชื่อมั่น" โดยพัฒนาคลินิกปฐมภูมิเขตเมือง วชิรพยาบาล พัฒนาระบบส่งต่อ V-Refer และระบบส่งต่อหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์วชิรพยาบาลระหว่างเครือข่าย จัดทำแนวทางการรักษากลุ่มโรคสำคัญตามบริบทเวชศาสตร์เขตเมือง

เวลา 16.07 น. เสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 โรงเรียนชัยพิทยพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา จารุวัฒนานุกูล ท่าพระ ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้มีอุปการคุณ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานของที่ระลึก, ครู รับพระราชทานรางวัล, นักเรียน รับพระราชทานทุนการศึกษาและรางวัล, นักเรียนเข้าใหม่ ปีการศึกษา 2566 เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายตัวเป็นนักเรียน 23 ราย และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 19 ราย กราบถวายบังคมลา

โรงเรียนชัยพิทยพัฒน์ฯ เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 178 คน โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมเอกลักษณ์ คือ "ความรู้ดี มีคุณธรรม" ควบคู่ไปกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปีการศึกษา 2566 ได้จัดการเรียนรู้ตามรูปแบบปกติ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เช่น การเข้าค่ายเรียนรู้เรื่องเงิน การหารายได้ การออม, การฝึกปฏิบัติงานอาชีพที่โครงการอุทยานการอาชีพชัยพัฒนา จังหวัดนครปฐม ที่ผ่านมาได้ส่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ค่าเฉลี่ยของ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าระดับจังหวัด และระดับสังกัด มีนักเรียนได้คะแนนคณิตศาสตร์เต็ม 100 คะแนน, การประเมินคุณภาพผู้เรียน NT ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยรวม 2 ด้าน มากกว่าร้อยละ 56 ซึ่งสูงกว่าระดับจังหวัด ระดับสังกัด และระดับประเทศ

โอกาสนี้ทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน ประกอบด้วย ระบำนางกอย, ระบำชนไก่, ศิลปะยุทธลีลา และรำถวายพระพร ประกอบการขับร้องเพลงขัตติยะชาติ นาถนคร รวมทั้งทอดพระเนตรโครงงานวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ถังแยกขยะอัจฉริยะ โดยนำความรู้เรื่องการต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ ส่งผลให้สามารถใช้แยกขยะได้ถูกประเภท นับแต่มูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้ามาดูแลโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 16 ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนเป็นประจำทุกปีในวันปิดภาคการศึกษา สร้างความปลาบปลื้มและประทับใจแก่คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อโรงเรียน ด้วยทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนว่า "โรงเรียนของพระเทพฯ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง