อัยการธนกฤต เผย 4 ด่านกฎหมายที่ต้องฝ่า หากจะยื่นร้องปมเสนอชื่อนายกฯซ้ำ

View icon 335
วันที่ 20 ก.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อัยการธนกฤต เผย 4 ด่านกฎหมายที่ต้องฝ่า หากจะยื่นร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาล รธน. รับวินิจฉัยมติรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ กรณีห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ

วันนี้ (20 ก.ค.66) ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงด่านกฎหมายที่จะต้องฝ่า หากจะยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีร้องว่า “มติรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ” โดยอัยการธนกฤต ระบุว่า ตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ความเห็นว่า มติรัฐสภาที่เห็นว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ จึงห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำ เป็นการกระทำทางนิติบัญญัติของรัฐสภาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ผู้ที่เห็นว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิสามารถไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

กรณีดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า การยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณากรณีอ้างว่า ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 นี้ ไม่ได้มีการบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 230, 231 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 การยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินที่กว่าจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ต้องฝ่าด่านกฎหมายหลายด่าน ดังนี้

ด่านแรก ผู้ยื่นคำร้องต้องเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง จากการลงมติของรัฐสภาดังกล่าว
ด่านที่สอง จะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วัน
ด่านที่สาม ต้องรอระยะเวลา 60 วัน ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะยื่นคำร้อง หรือ ไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน ผู้ร้องถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และต้องยื่นภายใน 90 วัน
ด่านที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาว่าคำร้องที่ยื่นเป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าไม่เป็นสาระ ก็มีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้