ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ได้รับรองตั้งชื่อเป็นภาษาไทยอีก 2 ดวง

View icon 521
วันที่ 9 มิ.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ประกาศรับรองชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นภาษาไทยอีก 2 ดวง ชื่อว่า  “แก้วโกสินทร์ - ไพลินสยาม”  ก่อนหน้านี้ดาวเคราะห์นอกระบบมีชื่อไทยแล้ว 5 ชื่อ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (สดร.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้ประกาศการรับรองชื่อภาษาไทยของดาวฤกษ์แม่ GJ3470 และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ว่า “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” นับเป็นระบบดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย โดยก่อนหน้านี้ระบบดาวเคราะห์นอกระบบ 47 UMa ได้รับการตั้งชื่อภาษาไทยว่า “ชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง” และ WASP-50 “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ที่ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยมาก่อนหน้านี้

64829d2fc9b7b0.76372809.jpg

สำหรับการตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “แก้วโกสินทร์” เสนอโดย นายหัสดินทร์ พัฒนากร  และ “ไพลินสยาม” เสนอโดยนายเฉลิมวุธ สมณา มีแนวคิดการตั้งชื่อจาก ความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่า ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้า คือแก้วรัตนชาติที่ประดับสรวงสวรรค์ บนสวรรค์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ปกครองเหล่าเทวดา พร้อมด้วยแก้ววิเศษ ดาวแม่จึงมีชื่อว่า “แก้วโกสินทร์” อีกนัยยะ คือ รัตนโกสินทร์ คือยุคที่ค้นพบดาวดวงนี้ และมีดาวบริวารเป็นรัตนชาติสีฟ้า คือ “ไพลินสยาม” ที่มีชื่อคล้องจองกันเป็น “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม”

การตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบ เป็นกิจกรรมที่สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อผ่านกิจกรรม  NameExoWorlds 2022 มีผู้เสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาทั้งสิ้น  603 ชื่อจาก 91 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกประมาณ 12 ล้านคน

ดร. ศุภชัย อาวิพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความผูกพันและสำคัญต่อประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของไทยจากการที่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย การที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์ของไทย การศึกษาด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะประเทศไทยได้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น มีการค้นพบใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ หรือการค้นพบน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทยในการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ