ไม่ผิดหวัง! ได้ชมดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกัน 0.8 องศา

View icon 170
วันที่ 2 มี.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ เผยภาพดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ปรากฏคู่กันห่างกัน 0.8 องศา สวยโดดเด่น  วันนี้ยังมีให้ชมในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า มองเห็นง่ายด้วยตาเปล่าทุกภาคของประเทศ

วันนี้ (2 มี.ค.2565)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ได้เผยภาพดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ที่ปรากฏเคียงคู่กันโดดเด่นมากทางทิศตะวันตกเมื่อหัวค่ำวานนี้ ซึ่งห่างกันประมาณ 0.8 องศา

สำหรับผู้ที่พลาดชมปรากฎการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ยังรอชมได้อีก 2 วัน (2-3 มี.ค.2566) หลังดาวอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าโดยง่ายทางทิศตะวันตกทุกภูมิภาคของประเทศ  เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองมีความสว่างโดดเด่นมากขนท้องฟ้าในช่วงหัวค่ำ

โดยวันนี้ ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 0.6 องศา และในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 1.4 องศา และค่อย ๆ ทำมุมห่างออกจากกันมากขึ้นหลังจากนี้

63ffffdb700508.00397634.jpg

ปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี  ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์