เปิดข้อมูลตำรวจ ตรวจสอบ-จับกุม รถบรรทุกทำผิดกฎหมาย

View icon 40
วันที่ 2 มิ.ย. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เมื่อวาน ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดข้อมูลกับว่าที่ สส.พรรคก้าวไกล ไปแล้วว่า ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกมีกี่รูปแบบ มีชื่อใครอย่างไรบ้าง ทีนี้เราจะมาดูข้อมูลทางฝั่งตำรวจบ้าง ว่าผลการตรวจสอบจับกุมที่ผ่านมาเจออะไรบ้าง

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ กองบังคับการตำรวจทางหลวง สรุปแล้วนำไปเข้าที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่ทีมข่าว 7HD ได้รับมามี 4 หน้ากระดาษ เริ่มต้นจากข้อมูลทั่วไป เช่น พื้นที่รับผิดชอบ, ระยะทางที่เกี่ยวข้อง, กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่

จุดแรกที่น่าสนใจในข้อมูลชุดนี้ คือ ข้อมูลชุดเฉพาะกิจที่ปฏิบัติงานร่วมกับกรมทางหลวง ก็คือ "ชุดเฉพาะกิจตำรวจทางหลวง" ที่เพิ่งมีคำสั่งยกเลิกไป พบว่ามีชุดเฉพาะกิจแบ่งเป็นส่วนกลาง 1 ชุด แต่ละพื้นที่อีก 11 ชุด ไม่รวมชุดตรวจนอกสถานที่ประจำด่านชั่งทั่วประเทศ 97 แห่ง จะเห็นได้ว่าชุดเฉพาะกิจเหล่านี้ มีการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหลายจุด และชุดปฏิบัติการจำนวนมาก

ต่อมาเป็นข้อมูลที่ "สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย" เคยแจ้งเบาะแสกับตำรวจผ่านช่องทางไลน์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน พบว่ามี 32 เรื่อง มีการจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 18 เรื่อง อยู่ระหว่างการดำเนินการ 9 เรื่อง และมีการยุติเรื่องไปแล้ว 4 เรื่อง ซึ่งมีการรายงานความคืบหน้ากันทุกวันจันทร์

ส่วนผลการจับกุมโดยเฉพาะกรณีของรถบรรทุกน้ำหนักเกิน พบว่าช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการจับกุมไปแล้ว 531 ราย เป็นการจับกุมร่วมกับกรมทางหลวง 404 ราย เป็นการจับกุมของตำรวจทางหลวง 127 ราย

โดย 5 อันดับประเภทสินค้าที่พบว่าบรรทุกมาแล้วน้ำหนักเกินมากที่สุด อันดับ 1 คือ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง 243 ราย, อันดับที่ 2 คือ ผลผลิตทางการเกษตร 140 ราย, อันดับที่ 3 คือ สินค้าอุปโภคบริโภค 50 ราย นอกนั้นเป็นการขนส่งเครื่องจักรกล, น้ำมันเชื้อเพลิง, ถ่านหิน, แร่ และสินค้าอื่น ๆ

และที่น่าสนใจในข้อมูลผลการจับกุมทั้ง 531 ราย ระบุว่า มีการติดป้ายสัญลักษณ์ 275 ราย และไม่มีสัญลักษณ์ 256 ราย ซึ่งข้อมูลนี้แม้ไม่ได้ระบุว่าคำว่า "ติดป้ายสัญลักษณ์" หมายถึงอะไร แต่ก็เชื่อว่าคุณผู้ชมน่าจะคาดเดากันออก

ส่วนเรื่องการเชิญ "สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย" มาร่วมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนำไปใช้ในการดำเนินคดี และแก้ปัญหาเรื่องส่วยสติกเกอร์ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รักษาราชการผู้บังคับการตำรวจทางหลวง บอกว่า ได้ให้ทางสหพันธ์การขนส่งฯ ไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด จะได้นำมาพิจารณาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะนัดหมายให้มาพบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ส่วนในระหว่างนี้จะเป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน และเรียกตำรวจที่เข้าข่ายต้องสงสัยมาให้ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ยอมรับว่าหลังจากที่เข้ามาดูปัญหาได้ 2 วัน ก็พบมีปัญหาอื่นอีกที่ต้องเข้าไปแก้ โดยเฉพาะเรื่องการเอารัดเอาเปรียบของเพื่อนร่วมงาน