ฝาท่อทรุด เจอส่วยโผล่

View icon 88
วันที่ 10 พ.ย. 2566
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ข่าวนี้ต้องบอกว่า สติกเกอร์เป็นเหตุสังเกตได้ จากรถบรรทุกตกฝาท่อร้อยสาย กลายเป็นคำถามเรื่องส่วยสติกเกอร์ขึ้นมาทันที หลังดาวสีเขียวมีรูปตัวบีแปะอยู่กลางกระจกรถด้านหน้า จนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลต้องตั้งกรรมการสอบ ขณะที่ประวัติรถบรรทุกเจ้าปัญหาคันนี้ ก็ไม่ธรรมดาซะด้วย

ฝาท่อทรุด เจอส่วยโผล่
รถบรรทุกคันนี้ หน้าตาแบบนี้ เราจะเอารถบรรทุกคันนี้ไปค้างไว้อยู่ด้านซ้าย เหมือนกันเปี๊ยบเลยใช่มั้ย มีสติกเกอร์ดาวรูปตัวบีอยู่ตรงกลางด้านหน้ากระจกรถเหมือนกันซะด้วย

โดยภาพด้านขวาเป็นข้อมูลจากงานวิจัยการชั่งน้ำหนักรถของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าข้อมูลจากเครื่องวัด Bridge Weight Motion หรือเครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.32 น. รถบรรทุกคันนี้บรรทุกน้ำหนักอยู่ที่ 61.4 ตัน เกินพิกัดที่กำหนดไว้ ที่ให้ไม่เกิน 25 ตัน มากถึง 36.4 ตัน หรือคิดเป็น 245.60 % แถมยังวิ่งนอกเวลาที่กฎหมายอนุญาตด้วย เรียกว่าผิดสองเด้งเลย

ประวัติมาแบบนี้ ผู้คนก็ยิ่งตั้งคำถามว่า แล้วที่บรรทุกมาวันที่เกิดเหตุ จะเกินลิมิตที่กำหนดไว้ 25 ตัน ไปมากน้อยแค่ไหน เพราะการชั่งน้ำหนัก ณ ขณะเกิดเหตุ ก็ทำไม่ได้ซะด้วย เนื่องจากมีการตักดินออกไปก่อน เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า ตำรวจปล่อยให้ทำแบบนี้ได้อย่างไร เป็นการทำลายหลักฐานหรือเปล่า

สุดท้ายตำรวจ สน.พระโขนง ก็เลยตกเป็นจำเลยไปโดยปริยายว่า มีสติกเกอร์ดาวรูปตัวบี เป็นใบเบิกทางบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ซึ่งทางตำรวจเขาก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่จริง

แม้จะมีเสียงปฏิเสธ แต่ก็ใช่ว่าสังคมจะคลายความสงสัย ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวน ขีดเส้นให้จบภายใน 3 วัน ขณะเดียวกันก็นำตัว "นายบอย" คนขับรถบรรทุกมาสอบปากคำ ระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวก็เข้าไปล้อมหน้าล้อมหลัง ขอให้นายบอยชี้แจงข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก เจ้าตัวก็ตอบแบบอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ว่า ก่อนที่รถบรรทุกจะออกจากจุดบรรทุกดิน มีการชั่งน้ำหนักมาแล้ว แต่หนักเท่าไรไม่รู้ จากนั้นก็ขอไม่ตอบคำถาม แล้วพยายามเดินฝ่าผู้สื่อข่าวไปพบตำรวจ

ส่วนรถบรรทุกที่มีข้อกังขาบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ กว่าจะได้ชั่งน้ำหนักกันจริง ๆ ก็ปาไปช่วงเย็น ผลที่ได้คือ ล้อหน้าหนัก 5.1 ตัน ล้อกลางหนัก 16.4 ตัน และล้อหลังสุด หนัก 15.9 ตัน น้ำหนักรวมสุทธิ 37.450 ตัน ถามว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ต้องบอกว่าเกิน เพราะกฎหมายกำหนดให้รถบรรทุก วิ่งรถด้วยน้ำหนักตัวรถรวมสิ่งของบรรทุกหนักได้ไม่เกิน 25 ตันเท่านั้น นี่ยังไม่นับว่าเอาดินมาใส่เต็มตามจำนวนที่บรรทุกมาหรือไม่อีกด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่ามีการตักดินออกไปก่อนหน้านี้ ใครกล้ารับประกันว่ามีการนำดินมาคืนครบ ในเมื่อไม่เคยมีการชั่งน้ำหนักมาตั้งแต่ต้น

มีอีกข้อสังเกตที่น่าสนใจ มาจากทีมงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ไปสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ แล้วสังเกตเห็นมีการถ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกออกไป ใส่ถังแกลลอนขนาดใหญ่ท้ายรถกระบะ เมื่อลองคำนวณน้ำมันดังกล่าว และสภาพอากาศที่อาจทำให้ดินเริ่มแห้ง อาจทำให้น้ำหนักแท้จริงของรถคันนี้ มากกว่า 37.450 ตัน ตอนประสบอุบัติเหตุ

บิ๊กโจ๊ก ชี้ ตักดินออก เพื่อเคลื่อนย้ายรถบรรทุก
อีกคนที่ตามเรื่องนี้ คือ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ บิ๊กโจ๊ก เรียกประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และชุดคลี่คลายคดี

บิ๊กโจ๊ก บอกว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับคนขับรถบรรทุก ฐานขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย และทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ส่วนเจ้าของรถต้องรอเรียกตัวมาสอบปากคำก่อน ว่ารู้เห็นเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ รวมถึงเรื่องการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ส่วนตัวรถต้องอายัดไว้ระหว่างการดำเนินคดี ส่วนที่มีภาพผู้ประกอบการให้คนงานตักดินออกไปเมื่อวาน จากการสอบถามทราบว่า เป็นการตักดินออกเพื่อให้เคลื่อนย้ายรถขึ้นมาจากจุดเกิดเหตุเท่านั้น จากนั้นก็เทดินกลับไปไว้ในรถตามเดิม

อ้างสติกเกอร์หน้ารถ แค่บอกว่าเป็นรถไซต์งานไหน
ส่วนประเด็นเรื่องส่วยสติกเกอร์ ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่าติดไว้เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรถไซต์งานตนเอง ซึ่งตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากพบว่าเส้นทางที่รถคันนี้วิ่งผ่าน เกี่ยวข้องกับตำรวจหลายพื้นที่ ยังต้องดูต่อไปว่าที่ผ่านมา เหตุใดจึงไม่จับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และประเด็นเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ว่ามีจริงหรือไม่

สั่งซีลกรุงเทพฯ ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกินเข้า
ส่วนพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้สังคมและสื่อมวลชนใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า สติกเกอร์ที่เห็นติดอยู่หน้ารถบรรทุกคันที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นส่วยสติกเกอร์ รอผลตรวจสอบก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หากพบว่าตำรวจนายใดทำผิด จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา

ถามต่อว่ามีปัญหาให้เห็นแล้วว่า รถบรรทุกน้ำหนักเกินยังเกิดอยู่ตลอด แล้วจะแก้กันอย่างไร เขาวางแนวทางกันไว้แบบนี้ จะให้ตำรวจท้องที่ ร่วมกับกรมทางหลวง นำตาชั่งเคลื่อนที่ไปออกตรวจชั่งน้ำหนักถึงหน้าไซต์งาน ซึ่งจะมีตำรวจแต่ละ สน. รวมถึงจะเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยหารือกันต่อไป

จ่อตรวจน้ำหนักรถบรรทุกหน้าไซต์งาน 319 แห่ง ทั่ว กทม.
และในอนาคต กทม.เตรียมจะติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัด Bridge Weight Motion หรือเครื่องตรวจจับน้ำหนักใต้สะพาน 10 จุด แต่จะไม่ระบุว่าอยู่จุดไหน ไม่บอกล่วงหน้า เพื่อให้เกิดการใช้งาน ตรวจจับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระยะสั้น กทม. จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ไปที่ไซต์งานก่อสร้าง เพื่อสุ่มตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ได้สั่งการสำนักงานเขตทุกเขต สำรวจไซต์งานก่อสร้างที่มีงานถมดิน ทั้งหมด 319 แห่ง ถ้าสงสัยรถบรรทุกที่คาดว่ามีน้ำหนักเกิน จะนำเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ไปสุ่มตรวจ หากพบว่าไซต์งานใด สั่งให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินจะมีการตักเตือน และอาจสั่งหยุดการก่อสร้าง

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็สั่งกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวง แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างบูรณาการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก