เปิดภาพในเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส หลังตกหลุมอากาศ

View icon 2.6K
วันที่ 22 พ.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เมื่อเย็นวานนี้ ก็มีเหตุน่าสะพรึงเกิดขึ้น เมื่อจู่ ๆ เครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ขอลงจอดฉุกเฉิน เพราะตกหลุมอากาศ แต่ใครจะคาดคิดเหตุนี้ มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บในระดับความรุนแรงต่างกันอีกหลายสิบคน ทำไมหลุมอากาศถึงอันตราย เดี๋ยวไล่เรียงกัน แต่ก่อนอื่นไปดูภาพภายในเครื่องบินลำดังกล่าว ว่าจะพังเสียหายมากแค่ไหน

พังเละจริง ๆ ทั้งสิ่งของที่ตกกระจัดกระจายระเนระนาด ท่ออากาศฉีกขาด หน้ากากออกซิเจนตกลงมา บนเพดานมีคราบคล้ายเลือด ซึ่งเป็นความเสียหายภายในตัวเครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ 321 ที่เกิดตกหลุมอากาศ

หลังเดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ก็ต้องขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงเวลา 15.35 น. ผ่านทางหอบังคับการบิน ศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างที่ทำการบิน เนื่องจากตกหลุมอากาศ ทำให้ผู้โดยสาร ซึ่งมีจำนวน 211 คน และลูกเรือจำนวน 18 คน ในจำนวนนี้มีหลายสิบคนบาดเจ็บ และเสียชีวิต 1 คน นำมาสู่การที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องประกาศแผนฉุกเฉินทางการแพทย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำรถพยาบาลเข้าพื้นที่ลานจอดฉุกเฉิน ก่อนลำเลียงผู้บาดเจ็บที่มีระดับความรุนแรงของอาการต่างกัน

เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินตกหลุมอากาศน่านฟ้าไทย จนมีผู้เสียชีวิต เป็นชายอายุ 73 ปี สัญชาติอังกฤษ และมีผู้โดยสายทั้งหัวแตก ปวดกล้ามเนื้อ ได้รับการช่วยเหลือส่งไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

จุดที่ทีมข่าวไปสังเกตการณ์เมื่อคืนนี้ ที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ มีผู้บาดเจ็บถูกส่งมารักษาทั้งหมด 71 คน เป็นชาวยุโรปเกือบทั้งหมด โดยตลอดคืนที่ผ่านมาได้จัดกำลังตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริของจราจรกลาง ในการนำทางรถพยาบาลหากผู้ป่วยต้องการเคลื่อนย้ายหรือส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ส่วนกรณีที่มีผู้เสียชีวิต หรือผู้บาดเจ็บ จะประสงค์เข้าแจ้งความนั้น เรื่องนี้ยังไม่มีความชัด เนื่องจากยังไม่ได้พูดคุยกับผู้บาดเจ็บ แต่จากรายงานน่าเชื่อว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ดังนั้นอาจต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายสากลประกอบด้วย

ฟังแล้วก็ชวนคิด การตกหลุมอากาศน่าจะรุนแรงมาก เพราะบางคนก็รัดเข็มขัดอยู่ ตัวยังลอยได้ แถมเป็นช่วงกินอาหารอยู่ด้วย หลายคนอาจระวังตัวไม่มาก ซึ่งเมื่อคืนนี้ก็มีการสอบสวนนักบินเพื่อหาข้อเท็จจริง รวมทั้งส่งผู้โดยสารกว่า 131 คน ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปถึงที่สิงคโปร์โดยสวัสดิภาพ เมื่อเวลา 05.05 น. ที่ผ่านมา

ขณะที่สายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ส โพสต์เผยเหตุที่เที่ยวบิน สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส SQ 321 จากกรุงลอนดอน ไปยังสิงคโปร์ แต่ประสบเหตุตกหลุมอากาศที่ระดับ 37,000 ฟุต ลดลงอย่างรวดเร็วไปที่ระดับ 31,000 ฟุต เหนือบริเวณลุ่มน้ำอิรวดี ประเทศเมียนมา หลังเดินทางมา 10 ชั่วโมง ทำให้นักบินบนเครื่องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์ (Medical Emergency) และเปลี่ยนเส้นทางนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 15.45 น. เวลาประเทศไทย มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 30 คน สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้สูญเสียต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งขอโทษผู้โดยสารบนเครื่องทุกคน

ด้าน นายจอห์น สตริกแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตการเสียชีวิตบนเครื่องบิน เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 ในล้านเท่านั้น แต่ถ้าอาการบาดเจ็บรุนแรงหนักมากจริง ๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียชีวิตอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ซึ่งเหตุตกหลุมอากาศก็เกิดคำถาม มีอันตรายมากเพียงใด ทีมข่าวสอบถามกับ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เครื่องบินที่ตกหลุมอากาศจะเกิดการลดระดับความสูงอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่ตัวจะลอยขึ้นเหนือเก้าอี้ จนศีรษะกระแทกกับช่องเก็บสัมภาระจนบาดเจ็บได้ในที่สุด

ด้าน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายเครื่องบินตกหลุมอากาศจะเกิดเมื่ออากาศส่วนบนและล่าง มีความเร็วเคลื่อนที่ต่างกัน จึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้าย ๆ กับระลอกคลื่น

เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้ จึงเกิดการสั่นสะเทือน เหมือนตกหลุม จึงเรียกว่า "หลุมอากาศ" เเละทำให้ผู้โดยสารเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิม

อีกมุมความเห็นของนายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีเครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น...เพราะอะไร ? เนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้น ทำให้ลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งเป็นลมที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ช่วงความเร็วของลมกรดลดลง ทำให้ความหนาแน่นมวลอากาศในบริเวณดังกล่าวบางลง เกิดหลุมอากาศขึ้น และในขณะที่เครื่องบินได้บินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงกะทันหัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ ซึ่งจะตกมากหรือน้อยอยู่ที่ขนาดของความหนาแน่นของมวลอากาศ นักวิจัยชี้ว่าอัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ภายในปี 2050 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40 %