ปธ.กกต. ยืนยัน “ทักษิณ” ยังไม่เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทย หลังแวะไปเยี่ยมเยียนวานนี้

View icon 194
วันที่ 27 มี.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“กกต.” ส่งเอกสารเพิ่มเติมคดียุบพรรคก้าวไกล ให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วตั้งแต่ 25มี.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (27มี.ค.67) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังที่ทำการของพรรคเพื่อไทยเมื่อวานนี้ว่า ยังไม่เข้าข่ายครอบงำพรรคการเมือง  เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า นายทักษิณเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ กิจกรรมพรรคการเมือง  หรือมีเจตนาอย่างอื่นนอกเหนือจากการเข้าไปเยี่ยมที่ทำการพรรคหรือไม่ แต่ยืนยันว่า กกต. มีหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการของพรรคการเมือง หากพบว่ายินยอมให้บุคคลบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาครอบงำพรรค กกต. สามารถดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดตามกฎหมายได้ทันที

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขอเอกสารประกอบคำร้องยุบพรรคก้าวไกลใหม่นั้น  ประธาน กกต. เปิดเผยว่า เป็นเอกสารบางส่วน ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐส่งมาประกอบคำร้อง ถ่ายเอกสารมาไม่ชัดเจนข้อความเลือนลาง จึงต้องส่งเอกสารไปใหม่ซึ่งทุกอย่างเรียบแล้ว

สำหรับคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการ กกต. อยู่ระหว่างการ ตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐาน โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 30 วัน แต่หากไม่เพียงพอ คณะกรรมการ ตรวจสอบสามารถขอขยายเวลาในการดำเนินการได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่ากกต. พิจารณาคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยล่าช้ากว่าพรรคก้าวไกลนั้น นายอิทธิพร ยืนยันว่า คำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยเป็นเรื่องเงินบริจาค เป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 93 ที่จะต้องผ่านการพิจารณา จากนายทะเบียนพรรคการเมือง  แต่กรณีของพรรคก้าวไกลใช้อำนาจตามมาตรา 92  เมื่อ กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีความผิด ก็ดำเนินการตามขั้นตอนได้ทันที อีกทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณา ทำให้เป็นไปโดยเร็ว ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฏหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และไม่ได้เร่งรัดตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า คำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ทาง กกต. ได้รวบรวมพยานหลักฐานไป แต่เนื่องจากเป็นคำร้องให้ตรวจสอบว่าเป็นเงินบริจาคที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ กกต. ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบว่าเงินนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องรอให้มีผู้ร้อง ไปร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เช่น ปปง. แล้วให้ศาลวินิจฉัยว่าเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จากนั้น กกต. จึงจะนำคำวินิจฉัยดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาว่าเข้าข่ายเงื่อนไขถูกยุบพรรคหรือไม่