ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลง

View icon 72
วันที่ 28 ก.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,234 คัน ลดลงร้อยละ 3.62 จากเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 11.69 หากเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะยอดขายรถกระบะลดลงถึงร้อยละ 36.3 ต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง หนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมทั้งการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันหลายเดือน

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยรายละเอียดของยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในประเทศ เดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้ มีจำนวนยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 60,234 คัน ลดลงร้อยละ 3.62 จากเดือนก่อนหน้าและลดลงร้อยละ 11.69 หากเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายหลักคือ รถกระบะที่ลดลงถึงร้อยละ 36.3 และรถยนต์สันดาปภายในลดลงร้อยละ 23.65

ยอดขายภาพรวม เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2566 รถยนต์มียอดขาย 524,784 คัน ลดลงร้อยละ 6.21 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง หนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น การชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว หลังจากมียอดสั่งซื้อของผู้บริโภคเป็นจำนวนมากในช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา อีกทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงรถกระบะและรถบรรทุก ประกอบกับการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันหลายเดือน

“หนี้เสียรถยนต์พุ่งสูง” ข้อมูลจาก สศช. สินเชื่อยานยนต์ที่พบว่ามูลหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเพิ่มจากร้อยละ 13.6 ในไตรมาสที่ 3 เป็นร้อยละ 13.7 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565  ทั้งนี้พบว่าสินเชื่อยานยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงวัยทำงาน ผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 - 49 ปีที่มีปัญหาการชำระหนี้ยานยนต์ ในปี 2566 บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ออกมาเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้น โดยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 มีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด  ประมาณ 450,000 บัญชี และบัญชีหนี้เสียอีกประมาณ 550,000 บัญชี จึงมีความเสี่ยงว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2566 อาจจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน

ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าผู้ให้บริการสินเชื่อบางรายกำหนดวงเงินดาวน์ต่ำมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย จึงควรมีมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานของสัดส่วนวงเงินดาวน์ ซึ่งลดความเสี่ยงหนี้เสียและถือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจลีสซิ่งในภาพรวม

สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ ความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบการให้สินเชื่อของทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ข้อมูล ธปท. ระบุว่ามาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2566 ยังเข้มงวดต่อเนื่อง สําหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้นมีความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้และความเสี่ยงของหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คาดว่าจะด้อยลงต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อมีแนวโน้มลดลง

ติดตามดูยอดขายรถยนต์ในไตรมาสสุดท้ายของปีจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง