ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด ขึ้นแท่นสินค้า GI รายการใหม่ จังหวัดตราด

View icon 35
วันที่ 30 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ จังหวัดตราด รสชาติหวาน มัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 11,047 ล้านบาท

วันนี้ (30 เม.ย.67) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องมือคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดตราดต่อจากสินค้าสับปะรดตราดสีทอง และทุเรียนชะนีเกาะช้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

โดย “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เปลือกผิวสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแข็งแรงและแหลมคม เนื้อทุเรียนสีเหลืองอ่อน หนา มีรสชาติหวาน มัน มีพื้นที่ปลูกอยู่บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้มีฝนตกมาก อีกทั้งอิทธิพลจากแรงลมทะเลที่เข้าปะทะกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลไปจนถึงพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ส่งผลให้สภาพความชื้นในอากาศลดลงเร็วกว่าปกติ ทำให้ทุเรียนเกิดอาการเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเกิดการกระตุ้นให้ทุเรียนออกดอกได้เร็วขึ้น  สามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ก่อนพื้นที่อื่น เกษตรกรในพื้นที่จึงเรียกพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกบริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดว่า “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียนหมอนทองในพื้นที่ดังกล่าว

ต่อมาได้มีการนำชื่อขยายไปยังกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนใน 5 อำเภอของจังหวัดตราด ได้แก่ อำเภอเมืองตราด อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอเขาสมิง และได้มีการจัดงานสมาร์ทฟาร์มเมอร์แฟร์ที่ได้เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชม และรับประทานบุฟเฟต์ผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัดเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเป็นวงกว้าง สร้างรายได้กว่า 11,047 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทำให้สินค้าท้องถิ่นได้รับการยกระดับมูลค่าสร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง