สสส. คิกออฟแคมเปญดื่มไม่ขับ เปิดสถิติสงกรานต์อุบัติเหตุเกิดใกล้บ้าน

View icon 30
วันที่ 11 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สสส. คิกออฟแคมเปญดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย เปิดสถิติเยาวชนดื่มแล้วขับมากขึ้น พบอุบัติเหตุ-เสียชีวิต เกินครึ่งเกิดเหตุใกล้บ้านในรัศมี 5 กม.

สงกรานต์ วันนี้ (11 เม.ย. 67) ที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลนิธิเมาไม่ขับร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ จัดกิจกรรม Kick off แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย”

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากข้อมูลที่เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ รายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 264 คน บาดเจ็บอีก 2,208 คน นับเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลของประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมในการขับขี่ ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนกฎจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย. 67 รวม 7 วัน ประมาณ 2.05 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็น รถบขส. 772,730 คน รถไฟระหว่างเมือง 645,600 คน และท่าอากาศยาน 629,365 คน เพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้ว 23.95%

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ปี 2566  พบว่า มีผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยดื่มแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์และล้มเองสูงถึง 53% ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก พนักงานขับรถจึงต้องมีความพร้อมทางร่างกาย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและระหว่างขับรถ เพราะเมื่อขับขี่ยานพาหนะร่างกายจะจะดูดซึมแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดอาการมึนเมา ส่งผลต่อการตัดสินใจ ขาดสติ ถึงขั้นหมดสติ และนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุ

จากข้อมูลของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เผยว่า 56% มักเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมี 5 กม. และ 78% เสียชีวิตบนเส้นทางที่ใช้ประจำ จากสถิติสงกรานต์ปี 2566 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากดื่มแล้วขับมากถึง 628 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 21% 

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนเสียชีวิต ปัจจุบันบทลงโทษ 3-10 ปี ถ้าผู้ก่อเหตุรับสารภาพ แม้ว่าศาลสั่งจำคุกด้วยโทษสูงสุด 10 ปี ผู้ก่อเหตุรับสารภาพศาลลงโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งโทษจำคุก 5 ปี อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลสามารถรอลงอาญาผู้ก่อเหตุได้ จึงทำให้ผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนตาย ไม่มีคนใดเคยถูกจำคุก  ดังนั้นมูลนิธิเมาไม่ขับจึงได้ทำหนังสือเสนอให้กับรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม ขอให้สนับสนุนการแก้ไขบทลงโทษเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิตจากโทษจำคุก 3-10 ปี เป็นจำคุก 11-13 ปี เพื่อลดความสูญเสียจากปัญหาการดื่มแล้วขับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง