หมอชลน่านขอความร่วมมือ รพ.ใน กทม. ทุกสังกัด รักษาผู้ป่วยมีใบส่งตัว

View icon 731
วันที่ 21 มี.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
คนไข้ต้องไม่เดือนร้อน “หมอชลน่าน ขอความร่วมมือ รพ. ใน กทม. ทุกสังกัด รักษาผู้ป่วยมีใบส่งตัว ย้ำ สปสช. มีกองทุนสำหรับเบิกจ่ายการรักษาผู้ป่วยทุกราย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยหลังรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ หลังจาก สปสช. เขต 13 กทม. ได้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เป็นรูปแบบ OP New Model 5 ที่ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 67 ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เคยมีนัดกับโรงพยาบาลรับส่งต่อ เนื่องจากคลินิกชุมชนอบอุ่นยกเลิกใบส่งตัวที่ออกก่อนวันที่ 1 มี.ค. 67 ขณะที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็ให้ผู้ป่วยที่เคยนัดไว้กลับไปขอใบส่งตัวใบใหม่ก่อนเข้ารับบริการ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้แนบรายชื่อผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ และรายชื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีปัญหาแก่ พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้กำกับดูแลให้คลินิกชุมชนอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่โรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ 2. ขอให้กำหนดให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเขียนใบส่งตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในกรณีโรคไม่เรื้อรัง และ ไม่ต่ำกว่า 1 ปีในกรณีโรคเรื้อรัง 3.ขอให้กำหนดให้ผู้ป่วยไปขอรับใบส่งตัวที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ออกใบส่งตัวให้ และ 4.ขอให้เผยแพร่ข้อมูลรายชื่อหน่วยบริการที่มีเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับบริการ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปัญหาคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. หลัง สปสช. ทราบเรื่องได้แก้ปัญหาโดยเร็วแล้ว จาก Model 5 ที่เดิมเริ่มใช้ในปี 2564-2566 และในปี 2567 คลินิกออกมาเรียกร้องถึงขั้นว่าต้องปิดตัวทั้งหมด เพราะเงินที่ได้รับนั้นอยู่ไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบประชาชนทั้งหมดซึ่งจะเป็นภาวะที่หนักกว่า ดังนั้น ที่ผ่านมา สปสช. จึงพยายามหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด พยายามไม่กระทบต่อประชาชน ขณะเดียวกันผู้ให้บริการต้องอยู่ได้ด้วย ซึ่งแนวทางใหม่ที่เริ่มใช้นี้ไม่ได้คิดเอง แต่เกิดจากการประเมิน วิเคราะห์ และผสมผสานเป็นรูปบบ OP New Model 5 และได้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา

ส่วนกรณีที่ยังมีการเรียกใบส่งตัวผู้ป่วยอยู่นั้น ด้วย กทม. เป็นจังหวัดที่มีความสลับซับซ้อน รูปแบบของหน่วยบริการไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. โรงเรียนแพทย์ ทหาร และตำรวจ เป็นต้น การบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับต่างจังหวัดอาจไม่ได้ผล ดังนั้นจึงต้องรอให้ระบบมีความพร้อมทั้งหมดก่อนแล้วค่อยดำเนินการได้ ตั้งเป้าหมายในเดือน ต.ค. นี้ ที่ให้ทุกที่เชื่อมต่อข้อมูลกันได้ การยกเลิกใบส่งตัวก็จะเป็นไปโดยปริยาย

ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ปัญหาเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการแก้ไข โดยได้ออกหนังสือซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ กรณีผู้ป่วยที่มีการให้ใบส่งตัวไปแล้ว ไม่ต้องเรียกกลับมา ขณะที่ รพ. ก็ให้การรักษาผู้ป่วยเดิมต่อไปได้ โดยให้ส่งเบิกจาก สปสช. 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า คลินิกฯเองเป็นฝ่ายเรียกร้องให้ สปสช. โอนจ่ายในรูปแบบเหมาจ่าย ด้วยเหตุผลว่าอยากดูคนไข้เอง และจะได้ให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เมื่อวันนี้ระบบได้เริ่มใช้แล้ว คลินิกก็ต้องรับทำหน้าที่ดูแลคนไข้ให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน ให้การดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่นั่งเขียนใบส่งตัวให้ผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ. แล้วเอาเงินเก็บไว้เอง ดังนั้นจึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้น หากเมื่อไหร่ที่คลินิกส่งตัวผู้ป่วยก็ต้องตามจ่าย 800 บาท/ครั้ง/ประชากร เป็นการร่วมรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และในกรณีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไป รพ.นั้น  หาก รพ.เรียกเก็บค่าบริการเกิน 800 บาท ก็ให้เบิกจาก สปสช. ที่กันเงินเหมาจ่ายไว้กองกลาง (OP Refer) จำนวน 30 บาท/ประชากร/เดือน มาจ่ายเพิ่มเติมได้ และยังมีกองทุน OP Anywhere (ปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้) สำหรับการเบิกจ่ายให้กับ รพ. ได้

สำหรับการเบิกจ่ายนั้น ย้ำว่าการรักษาผู้ป่วยทุกราย รพ. ได้เงินทุกราย แต่หากวันนี้ รพ. ยกเลิกใบส่งตัวไปเลย ปัญหาจะตกกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยเองหลายรายก็มีภาวะเจ็บป่วยรักษาต่อเนื่อง แต่ย้ำว่าให้เป็นกรณีผู้ป่วยที่มีเหตุผลจำเป็นจริงๆ ที่ต้องรักษาที่ รพ.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ทำหนังสือชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับคลินิกชุมชนอบอุ่นว่า ผู้ป่วยที่เคยส่งตัวไปแล้วขอให้เป็นแบบเดิม ซึ่งหลังจากนี้หากมีผู้รับบริการที่ไม่ได้รับความสะดวกหรือถูกปฏิเสธการออกใบส่งตัวทั้งที่มีความจำเป็นต้องไปรับบริการในโรงพยาบาลรับส่งต่อ ให้แจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนตาม มาตรา 57 และ 59 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หากคิดว่าไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดย สปสช. จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขต่อไป

ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ป่วยที่ถูกคลินิกข่มขู่และไม่สบายใจที่จะรับบริการกับคลินิกชุมชนอบอุ่นเดิม สามารถเปลี่ยนคลินิกใหม่ได้ โดยสามารถเปลี่ยนได้ถึงปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถขอให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นแม่ข่ายในพื้นที่นั้นๆ ออกใบส่งตัวให้ได้เช่นกัน