กมธ.ความมั่นคงฯ ถก ผบ.ทร. รับเข้าใจกองทัพเรือ ยันมาเพื่อช่วย ไม่ใช่จ้องจับผิด

View icon 95
วันที่ 15 มี.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (15 มี.ค. 67) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูป สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะกรรมาธิการ อาทิ นายชณทัต ปัทะมะภูวดล,  สส.ปรพล อดิเรกสาร, นาวาโท นายแพทย์ เทวเจษฎา ภาเรือง ที่ปรึกษากรรมาธิการ เดินทางมาหารือกับ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ กองบัญชาการกองทัพเรือ (นันทอุทยาน)

นายรังสิมันต์ ระบุว่า วันนี้กองทัพเรืออยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเท่าไหร่ ต้องพูดตรงไปตรงมา คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะมาพูดคุยกัน จะได้สร้างความร่วมมือ ร่วมกันพัฒนา และยกระดับการทำงาน แก้ปัญหาร่วมกัน คิดว่าการทำหน้าที่ของ กมธ. ในฐานะกลไกของสภาฯ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าใจทางกองทัพ และทางกองทัพก็ต้องเข้าใจการทำงานของสภาฯ คิดว่าจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศที่ดี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีข้อถกเถียงหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ เราก็ต้องพูดคุยกัน

ส่วนเรื่องการของบประมาณ จัดหาเรือฟริเกต ที่ไม่ผ่านกมธ.งบ 67 ก็ต้องคุยรายละเอียด เช่นเดียวกับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ของเรือหลวงคีรีรัฐ เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น กองทัพเรือเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราต้องพูดคุยกันว่าจะมีส่วนไหน ที่จะสนับสนุนกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีลักษณะเหตุแบบนี้อีก วันนี้ตั้งใจที่จะสร้างบรรยากาศของการพูดคุย และแก้ปัญหา แน่นอนว่าเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ เราเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ แต่เราสามารถมาร่วมมือกันทำหน้าที่เพื่อกองทัพเรือ ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพต่อไป โดยการหารือวันนี้ เป็นกำหนดเวลาที่มีอยู่เดิมแล้วไม่ใช่มาเพราะเหตุการณ์เมื่อวาน แต่ก็ต้องมีการพูดคุย อยากให้มองว่าการมาครั้งนี้ มาคุยเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่ง คิดว่ากองทัพเรือก็เป็นเหล่าสุดท้ายแล้ว

เมื่อถามว่าโครงการจัดหาเรือฟริเกต ที่ถูกกมธ.งบ 67 ตีตกไปแล้ว ในส่วนของ กมธ.ความมั่นคงฯ จะสามารถพูดให้ทางกองทัพเรือได้หรือไม่ เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ดูเหมือนจะสนับสนุน ต่างจากพรรคเพื่อไทย นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถแสดงจุดยืนงบได้ เพราะเรามาในฐานะกรรมาธิการที่มีหลายพรรคการเมือง แต่เราต้องฟังทุกฝ่าย ถ้าพูดถึงการพัฒนากองทัพอย่างไร ก็ต้องพูดถึงขีดความสามารถในการรบ และในสถานการณ์ปัจจุบันมีความท้าทาย แต่เราจะสร้างขีดความสามารถในการรบอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย สิ่งนี้ต้องมาพูดคุยกัน อย่างที่มีการพูดถึงบ่อยๆ เช่นกันการถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบ หรือสร้างภายในประเทศ เป็นออปชั่นที่น่าสนใจ คิดว่าแนวทางเหล่านี้ จะได้คุยกับกองทัพเรือ ว่าเห็นอย่างไร ซึ่งการกำหนดผลลัพธ์ของการสู้รบ เป็นแนวทางที่ต้องพูดคุยกัน

"แต่ยืนยันว่าวันนี้เรามองหาการทำงานร่วมกัน ขอเรียกว่าเป็นการมาช่วยกองทัพมากกว่า หลายคนบอกว่าตนมาจ้องจับผิด แต่แน่นอนว่าเราต้องถาม และสังคมอยากจะรู้ เชื่อว่าวิธีแบบนี้ จะเป็นประโยชน์ ทั้งกับกรรมาธิการ และกองทัพ เอง เป็นการให้คำตอบกับสังคมว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรไปทางไหนตนเข้าใจพี่น้องกองทัพ ว่าที่ผ่านมายากลำบากจริงๆ มีความท้าทายหลายอย่าง เราก็ให้กำลังใจและพูดคุยต่อไป"

ส่วนขณะนี้โซเชียลตั้งข้อวิจารณ์ว่า ในรอบ 1 ปีกว่า กองทัพเรือขาดมาตรฐานการปฏิบัติงาน ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ร้ายแรงทั้งเรือหลวงล่ม เรือชนท่าเทียบ และเรือยิงใส่กันเอง นายรังสิมันต์ ระบุว่า ขอไม่คอมเม้นต์ก่อน ซึ่งต้องรอฟังเหตุผลจากกองทัพเรือ และคำถามต่างๆ ที่โลกโซเชียลได้ถามคิดว่าจะพูดคุยกันอย่างแน่นอน และเราจะฟังทางกองทัพว่าเขาพูดอย่างไร และสิ่งที่จะทำต่อไปจะทำอย่างไร ไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ คิดว่าก็จะมีเวลาในการตอบสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง