ม.ค. 2567 กับ 3 คดีร้อนในศาลรัฐธรรมนูญ

View icon 219
วันที่ 1 ม.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เปิดศักราชใหม่รับปีมังกรทอง เริ่มเข้าสู่เดือนที่ 4 ในการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐา มีปมการเมืองอะไรที่รอระอุ เรื่องไหนจะปะทุจนองศาเดือด และจะเดือดที่ไหน ไปไล่ดูกัน

ม.ค. 2567 กับ 3 คดีร้อนในศาลรัฐธรรมนูญ
เดือดแน่ ๆ ในเดือนนี้ ปะทุที่พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล กับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลก่อนเลย เพราะมีคิวที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยแบบต่อเนื่อง 3 คดีร้อน

เริ่มจาก 17 มกราคม คดีการถือหุ้นของ คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งถูกศาลฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้พลาดตำแหน่งรัฐมนตรีไปในครั้งนี้ เนื่องจากยังมีคดีที่ค้างศาลรัฐธรรมนูญเป็นชนักติดหลังอยู่

แต่คดีนี้แม้ผลออกมาเป็นลบ ก็ไม่มีความหมายอะไร เนื่องจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่ถูกร้อง กลายเป็นอดีตไปแล้ว หากเจ้าตัวปล่อยหุ้นที่ถือออกไป ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอีก ไร้ชนักติดหลังด้วย โอกาสจะกลับมารับตำแหน่งการเมืองอีกรอบ ก็มีความเป็นไปได้

แตกต่างจากกรณีถือหุ้นสื่อฯ ของคุณพิธา เพราะมีผลโดยตรงกับตำแหน่ง สส. ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ ถ้าวันที่ 24 มกราคม ศาลฯ ชี้ว่าถือหุ้นสื่อฯ จริง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง สส. ไป

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเลือกตั้งซ่อม คุณพิธา ก็มีสิทธิลงสมัครได้เลย เนื่องจากหลังเกิดการร้องเรียน เจ้าตัวก็ไม่ได้ถือหุ้นไอทีวีแล้ว ส่วนถ้าผลออกมาเป็นบวก ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส.ได้ ที่ต้องลุ้นต่อคือ แล้วจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปรอลุ้นเดือนเมษายน ที่จะมีการประชุมใหญ่ฯ เพราะคุณชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนปัจจุบัน ก็เปิดทางไว้แล้วเหมือนกัน

ส่วนอีกเรื่องร้อนของพรรคก้าวไกล หลายคนห่วงจะถูกยุบพรรค ซ้ำรอยอนาคตใหม่ จากกรณีนโยบายหาเสียงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งก็มีการมองเป็น 2 มุมอยู่ตอนนี้ มุมหนึ่งบอกว่าไม่น่าจะไปไกลขนาดนั้น

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้เพียงแค่ให้มีคำสั่งเลิกการกระทำเท่านั้น  นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้งคุณพิธา และคุณชัยธวัช เชื่อว่าพรรคก้าวไกล ยังได้ไปต่อแน่นอน แต่อีกมุมหนึ่งมองกันว่า งานนี้หนัก ถ้าศาลฯ ชี้ว่าผิด มีสิทธิถูกยุบพรรคได้เลย หรือถ้าชี้ว่าผิด แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค แต่ กกต.อาจใช้คำวินิจฉัยนี้ไปร้องต่อภายหลังตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้ยุบพรรคเป็นขยักที่สอง

ทักษิณ รอลุ้นรับอิสรภาพ ไม่ต้องรอพักโทษ ก.พ. นี้
ถัดมาเดือนกุมภาพันธ์ มีปมร้อนจากการครบเกณฑ์ขอพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ตั้งแต่กลับมารับโทษ ยังไม่เคยนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เพราะถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่กลางดึกคืนแรกที่เข้าเรือนจำ ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตากันตั้งแต่เดือนนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะเผลอ ๆ อาจจะได้กลับบ้านก่อนก็ได้ หากคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ใส่ชื่อนายทักษิณให้ได้คุมขังนอกเรือนจำ เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนหนามยอกอกรัฐบาลเศรษฐา กับข้อกังขาเอื้อประโยชน์นักโทษเทวดา

ซึ่งจนถึงขณะนี้ นายทักษิณ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นาน 131 วันแล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ยังไม่เห็นหนังสือขอขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน

ส่วนเรื่องร้อนในสภาฯ เปิดฉากมาเดือนนี้ ได้เวลาซัดหนัก ๆ กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 3-5 มกราคม จับตาดูการทำงานในฐานะฝ่ายค้านร่วมกันครั้งแรกของพรรคก้าวไกล กับประชาธิปัตย์ จะเข้าขากันแค่ไหน ซึ่งพรุ่งนี้เขาจะประชุมวิปฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก ก้าวไกลเตรียมผู้อภิปรายไว้ 30 คน ส่วนประชาธิปัตย์ วางตัวให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค อภิปรายเป็นคนแรก และหลังจากนี้ยังต้องตามต่อว่า จะได้ฤกษ์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันในสมัยประชุมนี้เลย หรือรอสมัยประชุมหน้า แต่ไม่ว่าอย่างไรได้ซักฟอกรัฐบาลกันในปีนี้แน่นอน

ขณะที่สภาสูงอย่างวุฒิสภา ก็จะครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ การเมืองจะเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างไรหรือไม่ เพราะวุฒิสภาชุดใหม่จะมาจากการคัดเลือกของกลุ่มอาชีพ และเมื่อไม่มีวุฒิสภาเป็นขวากหนามแล้ว ก้าวไกลจะเดินหน้าดีลการเมืองใหม่กับเพื่อไทย กลายเป็นสองพรรคใหญ่ตั้งรัฐบาลหรือเปล่า และถ้าทำจริง เพื่อไทยจะยอมคายอำนาจในมือ ไปมอบให้พรรคก้าวไกลจริงหรือ ดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และปีนี้ก็ยังมีลุ้นปรับ ครม. เติม 2 รัฐมนตรีที่ยังว่างอยู่ จะเติมที่นั่งโควตาเดิม หรือเพิ่มพรรคใหม่ ที่ว่ากันว่าประชาธิปัตย์ เขาก็แอบหวังอยู่

ปิดท้ายปฏิทินการเมืองปี 67 ที่ยังต้องจับตาคือ กฎหมายนิรโทษกรรม จะมีการทำคลอดกันในปีนี้หรือไม่ การออกเสียงประชามติรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำได้เลยหรือไม่ หลังพรรคก้าวไกลพยายามผลักดันต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนพรรคหลักอย่างเพื่อไทย ที่เคยหาเสียงเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน ยังไม่ค่อยออกแรงเท่าไหร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง