สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นประธานในงาน “Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

View icon 69
วันที่ 30 พ.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วานนี้ (29 พ.ย.66)  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ทรงเป็นประธานในงาน “Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Silk Success Sustainability” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 3 รอบ 8 มกราคม 2566 และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย ตลอดจน เป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน

โอกาสนี้ พระราชทานเหรียญรางวัล ได้แก่ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนาก แก่คณะทำงานกระทรวงมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชน ที่สนองงานผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ปี 2563 ถึง 2566, พระราชทานเหรียญทองและเหรียญเงินแก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”, พระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ แบ่งเป็นรางวัลพิเศษ Best of the Best ได้รับพระราชทานเหรียญทองพร้อมสร้อยคอทองคำ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ “กระบุงจักสานย่านลิเภาทรงฟักทอง เลี่ยมขอบทองแดง ชุบนาก” จากสถาบันสิริกิติ์ รวมทั้ง รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนาก ประเภทผ้าและประเภทงานหัตถกรรม รวม 28 รางวัล และประกาศนียบัตรแก่รางวัลชมเชย จำนวน 28 รางวัล การประกวดผ้าลายพระราชทานฯ มีกลุ่มผู้ผลิต, ผู้ประกอบการ OTOP, ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย, ช่างทอผ้าทั่วประเทศ และงานหัตถกรรม ส่งผ้าเข้าประกวดมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 4 สิงหาคม 2566 เป็นผ้า 14 ประเภท รวม 6,290 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 796 ชิ้น

นอกจากนี้ ได้พระราชทานเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตร แก่นักออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก”, พระราชทานประกาศนียบัตรรางวัลต้นกล้านารีรัตน แก่ Young OTOP และ รางวัล TOP 5 ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก

65680d9e66b657.09979839.jpg
จากนั้น เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ Silk Festival 2023 ซึ่งจัดแสดงพระกรณียกิจ, สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 3 รอบ ในการนี้ ได้พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ซึ่งทรงออกแบบเป็นภาพตัวอักษร S แก่ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปมอบแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยมีพระประสงค์ให้ช่างทอผ้าพึ่งพาตนเองได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนถึงปลายน้ำ คือ พัฒนาการออกแบบตัดเย็บและการจำหน่าย ตลอดจน สร้างอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาหัตถศิลป์และการทอผ้าพื้นถิ่นของไทย ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้พระราชทานคำแนะนำและพระวินิจฉัยต่าง ๆ อาทิ “โครงการบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล” ที่ส่งเสริม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิด ไปสู่การพัฒนาผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย เกิดการพัฒนารูปแบบและยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น, “โครงการนาหว้าโมเดล” ที่ฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ เพื่อให้ช่างทอผ้าและชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าอย่างยั่งยืน รวมทั้ง รวบรวมลายผ้าโบราณในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละลวดลายมีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตลอดจน เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ ระหว่างช่างทอผ้าในชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และนักออกแบบ ทำให้เกิดผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล, โครงการ Premium OTOP ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ พัฒนาอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

65680ded87c453.19181077.jpg

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทย โดยผลงาน 13 แบรนด์ไทย อาทิ SIRIVANNAVARI , ASAVA, ISSUE, เธียเตอร์, ธีระพันธุ์ และผู้ชนะการประกวดออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยแต่ละแบรนด์ ได้นำผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละชุมชน เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า และผ้าหางกระรอก มาตัดเย็บเป็นผลงานที่สะท้อนแนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อแสดงถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์นำไปสู่ Soft Power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย สินค้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนได้ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคมนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง