สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ดังนี้

View icon 285
วันที่ 25 พ.ย. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
วานนี้ เวลา 19.01 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 รวมทั้งสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาและพัฒนาโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร และการแสดงโขน ซึ่งยึดแนวบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องรามเกียรติ์ ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" ตั้งแต่หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์ กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำ นอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม เมื่อหนุมานแปลงเป็นเหยี่ยวสืบรู้ความลับของกุมภกรรณ จึงดำน้ำลงไปพบกุมภกรรณนอนขวางอยู่ จึงนิมิตกายแผลงฤทธิ์และต่อสู้ จนกุมภกรรณแพ้หนีไป จากนั้น กุมภกรรณ ยกกองทัพออกรบกับฝ่ายพระราม พระลักษมณ์ จนกุมภกรรณต้องศร เห็นพระราม มี 4 กร รู้ว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร จึงทูลขอโทษและฝากฝังพิเภก พระรามอภัยโทษและให้พรกลับคืนขึ้นสู่ฟากฟ้า

การแสดงแบ่งเป็น 2 องก์ องก์ที่ 1 มี 5 ฉาก ได้แก่ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา, ฉากตำหนักกุมภกรรณ, ฉากต้นกร่างใหญ่ริมแม่น้ำ, ฉากป่าริมฝั่งน้ำ และฉากพลับพลาพระราม ส่วนองก์ที่ 2 มี 4 ฉาก ได้แก่ ฉากอุทยานท้ายตำหนักกุมภกรรณ, ฉากใต้น้ำ, ฉากหน้าพระลานกรุงลงกา และฉากสนามรบ โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน นักแสดง และนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ ร่วมแสดงฯ รวมทั้งมีการบรรเลงดนตรี การขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ และเครื่องแต่งกายอันวิจิตรประณีต

หลังจบการแสดง พระราชทานพระวโรกาสให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้แทนคณะกรรมการ และคณะนักแสดง เฝ้ารับพระราชทานช่อดอกไม้  สำหรับการแสดงโขนในครั้งนี้ นำการออกศึกของกุมภกรรณในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของกุมภกรรณมาจัดแสดง เพื่อให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความผูกพันของพี่น้องวงศ์ญาติที่ไม่อาจตัดขาดกันได้ รวมทั้งการให้อภัยไม่จองเวรให้เป็นบาปกรรมสืบต่อกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้ เป็นหลักคิดที่ควรคงอยู่เป็นแบบอย่างอันดีงามสืบไปในสังคมปัจจุบัน

เวลา 16.00 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ณ วชิราวุธวิทยาลัย ในการนี้ ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพวงมาลาส่วนพระองค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้น เสด็จไปยังหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ นักเรียนเป่าแตรนำเพลง มหาวชิราวุธราชสดุดี และร้องเพลง "มหาวชิราวุธราชสดุดี" แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนสวด "วชิราวุธานุสฺสรณคาถา" ของสุชีโว ภิกขุ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ด้วยทรงเล็งเห็นว่า หากทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ จะเกินความจำเป็นในส่วนบำรุงพระพุทธศาสนา สิ่งที่จำเป็นในขณะนั้นคือ การให้การศึกษาแก่ราษฎร ในวันที่ 29 ธันวาคม 2453 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดรับนักเรียน และถือเป็นวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนฯ จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องไทยธรรม ทรงศีล เมื่อพระธรรมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถวายพระธรรมเทศนาจบ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากันฑ์เทศน์

จากนั้น เสด็จไปยังห้องสดัปกรณ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ 51 รูป พระสงฆ์สดัปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก

ต่อจากนั้น เสด็จไปยังห้องพิธี นักเรียนร้องเพลง "เราเด็กในหลวง" เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี บท "พระสุบิน"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา ว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี โดยเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468

เวลา 17.31 น. เสด็จแทนพระองค์ไปยังสวนลุมพินี ทรงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง , สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพวงมาลาส่วนพระองค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ฯ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดิน ณ ทุ่งศาลาแดง สำหรับจัดสร้างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงสินค้าเป็นครั้งแรก และจัดให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ชื่อว่า "สวนลุมพินี"

โดยวันนี้ ยังมีคณะองคมนตรี ตลอดจน หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ วชิราวุธวิทยาลัย ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เวลา...นาฬิกา...นาที สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จออก ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระวโรกาสให้ นายเปโดร สวาห์เลน ( Mr.Pedro Xwahlen) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เฝ้า ในโอกาสมาปฏิบัติหน้าที่ใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง