อัปเดตเอลนีโญ หน้าหนาวสั้น ฝุ่นไฟอาจยาว ค่าน้ำอาจเป็นต้นทุนสำคัญของการท่องเที่ยว

View icon 121
วันที่ 7 พ.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดร.ธรณ์อัปเดตเอลนีโญ เจอแบบเต็มๆ 3 เดือน พ.ย. -ม.ค. หน้าหนาวสั้น ฝุ่นไฟอาจยาว จับตาปะการังจะฟอกขาวหรือไม่ แนะเตรียมรับมือน้ำเพื่อการเกษตร ราคาค่าน้ำอาจกลายเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการท่องเที่ยว

วันนี้ (7 พ.ย.66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อัปเดตสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูหนาว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ตอนนี้เราเข้าเอลนีโญแบบเต็มๆ เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม เดือนมกราคม คือเดือนที่โดนหนัก พร้อมนำภาพล่าสุดจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA )หรือ โนอา หน่วยงานด้านวิทยาศาตร์ของสหรัฐอเมริกา มาให้ดูจะเห็นแผนที่อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลในแต่ละเดือน ช่วงเดือน พ.ย.66 – ม.ค.67  ภาพที่เห็นเป็นสีแดงเลย

6549f84143d256.60667489.PNG

"เอลนีโญจะเบาลงเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม น้ำทะเลยังคงร้อนผิดปกติในอ่าวไทย ปะการังจะฟอกขาวหรือไม่ ต้องไปลุ้นกันในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม"

ดร.ธรณ์ ระบุถึงอากาศหนาวปีนี้ ว่า เมื่อดูแผนที่ประกอบ ใน 3 เดือนจากนี้ เมืองไทยจะ Warm และ Warm & Dry ภาคเหนือ ภาคอีสานจะไม่ค่อยหนาว ตอนนี้เข้าใกล้กลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว กรมอุตุฯ ยังไม่ประกาศหน้าหนาว เผลอๆ อาจดีเลย์ไปเกือบเดือน สำหรับนักเที่ยวที่เคยดื่มด่ำกับลมหนาวเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีก่อน ปีนี้เดือนเดียวที่หวังได้คือธันวาคม ลมหนาวอาจโชยมา ขอจงเตรียมตัวล่วงหน้าตั๋วเครื่องบินไปเหนือตอนนี้พุ่งกระฉูด โรงแรมราคาเต็มๆ ซึ่งต้องเห็นใจผู้ประกอบการ หน้าหนาวสั้น แถมฤดูฝุ่นไฟอาจยาว หากมีจังหวะต้องตุนไว้ก่อน

ในเขต warm & dry จะทาบทับลงมาในพื้นที่ภาคใต้ ที่ปกติฝนจะมาช่วง พ.ย.66 - ม.ค.67 หลายฝ่ายออกมาเตือนแล้วว่า ปีนี้ฝนจะน้อยกว่าปกติ นอกจากน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค เรายังต้องการน้ำอีกมากเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวเยอะแต่มีน้ำจำกัด ราคาค่าน้ำอาจกลายเป็นต้นทุนสำคัญ และอาจเห็นชัดเจนขึ้นใน ม.ค.-มี.ค.66 ซึ่งเป็นช่วงพีกของการเที่ยวทะเล

ทั้งหมดนี้คือการอัปเดตเอลนีโญ ในยุคโลกร้อนขึ้นเรื่อย รู้เขารู้เราสำคัญมาก ตั้งแต่การทำมาหากินไปจนถึงการท่องเที่ยว