สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติของขาหน้าซ้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์”

View icon 702
วันที่ 6 ก.ย. 2566
พลายศักดิ์สุรินทร์
แชร์
สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติของขาหน้าซ้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์”  ข้อเสื่อม เอ็นบริเวณข้อศอกด้านซ้ายมีการอักเสบเรื้อรัง เกิดเป็นพังผืด

วันนี้ (6 ก.ย.66 ) เพจเฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC” ได้โพสต์ภาพการรักษาพลายศักด์สุรินทร์ พร้อมระบุข้อความว่า “เมื่อวานทีมงานได้มีการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของขาหน้าซ้ายพลายศักดิ์สุรินทร์โดยละเอียดแล้วนะคะ โดยมีผลการตรวจดังนี้

การวัดและวิเคราะห์การก้าวย่าง ใช้ระบบวิเคราะห์การเดินของช้างเอเชียโดยวิธีการใช้หน่วยวัดแรงเฉื่อย (Inertial Measurement Unit ; IMU) ซึ่งจะมีการติดเซนเซอร์ที่ตำแหน่งต่างๆบนร่างกายช้าง ให้ช้างเดินโชว์ตัวหล่อๆบนทางราบเป็นระยะทางประมาณ 25 เมตร แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผล พบว่าขาหน้าซ้ายมีจังหวะการก้าวย่างสั้นกว่าขาข้างอื่นและพบการเหยียดของขาหน้าซ้ายท่อนบนมากกว่าส่วนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ขาหน้าขวาเพื่อชดเชยการทำงานของขาหน้าซ้าย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโครงสร้างผิดรูปได้ในอนาคต

การถ่ายภาพรังสี (x-ray) ขาหน้าซ้าย เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกโดยเฉพาะในส่วนของข้อต่อ พบว่าบริเวณข้อศอกผิวกระดูกมีความขรุขระและมีช่องว่างระหว่างข้อแคบกว่าปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณของข้อเสื่อม (Osteoarthritis ; OA)

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography) พบว่าเอ็นบริเวณข้อศอกด้านซ้ายมีการอักเสบเรื้อรัง เกิดเป็นพังผืด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้างไม่สามารถงอขาได้ และพบว่ากล้ามเนื้อหัวไหล่ด้านซ้ายมีการฝ่อลีบเนื่องมาจากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน

เมื่อทำการวินิจฉัยจนพบสาเหตุของความเจ็บป่วยแล้ว ทีมงานจึงได้วางแผนการรักษา ดังนี้

กำหนดให้ช้างเดินออกกำลังกายในทางราบโดยให้เดินข้ามสิ่งกีดขวางเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อขาหน้าซ้าย วันละ 30 นาที ทำการนวดบริเวณข้อศอกซ้ายด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound therapy) เพื่อรักษาพังผืดในบริเวณดังกล่าวกระตุ้น/เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ด้านซ้ายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation ; PMS) โดยจะมีการติดตามและประเมินผลการรักษาทุกๆ 30 วันค่ะ”

ขอขอบคุณ
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Ams Cmu
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ที่่ร่วมทำการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาร่วมกันในครั้งนี้

และขอขอบคุณ BTL Medical Thailand (บริษัท บีทีแอล เมดิคอล เทคโนโลจีส์ จำกัด) ที่นำเครื่อง PMS มาให้มุธุของเราลองใช้ค่า

#เราจะช่วยช้างไปด้วยกัน
#เคสโรงพยาบาลช้างลำปาง