ผลสำรวจระดับชาติ ไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น

View icon 84
วันที่ 10 ก.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผลสำรวจระดับชาติล่าสุดชี้ไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น การคลอดในวัยรุ่นลดลง การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงลดลง แต่แนวโน้มเรื่องการศึกษาและพัฒนาการของเด็กยังน่าเป็นห่วง

วันนี้ (10 ก.ค. 66) ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ แสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนที่เพิ่มขึ้น อัตราการคลอดในวัยรุ่นและการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านลดลง

แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย การศึกษา ภาวะโภชนาการของเด็ก และ
การแต่งงานก่อนวัยอันควร

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุด โดยจัดทำขึ้นทุก 3 ปี และ มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่าง ๆ กว่า 130 ตัวชี้วัด เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก การสำรวจ MICS ครั้งล่าสุดนี้เก็บข้อมูลจาก 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตราการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวว่า “การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 นับเป็นการจัดทำครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีในประเทศไทย นอกจากนี้ การสำรวจนี้นับเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญอีกแหล่งที่ช่วยในการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”

ผลสำรวจพบว่า อัตราการคลอดในวัยรุ่นของประเทศไทยลดลงจาก 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 เหลือ 18 คนต่อ 1,000 คนในปี 2565 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงอย่าง ต่อเนื่องจากร้อยละ 75 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 58 และร้อยละ 54 ในปี2562 และ 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลสำรวจในปี 2565 ยังพบว่าผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมากขึ้นมีทัศนคติไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย โดยในปี 2565 มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนร้อยละ 29 ที่ได้กินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก เมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 14 ในปี 2562 นอกจากนี้ยังพบว่ามีแม่จำนวนมากขึ้นที่ให้นมลูกอย่างต่อเนื่องจนถึง 1 ปีและ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็กเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนซึ่งจัดทำก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยของเด็กอายุ 3-4 ปีลดลงจากร้อยละ 86 ในปี2562 เหลือเพียงร้อยละ 75 ในปี 2565 นอกจากนี้ อัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กอายุ 5 ปี (เมื่อเริ่มปีการศึกษา) ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 88 และอัตราของเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมในการเข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สมอง สังคม อารมณ์ และภาษา ก็ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 94 เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง