บรรยากาศวันแรงงานในหลายประเทศ

View icon 63
วันที่ 1 พ.ค. 2566
รอบรั้วรอบโลก
แชร์
ผู้ใช้แรงงานชาวกัมพูชาหลายร้อยคน รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงและสวัสดิการต่าง ๆ รวมไปถึงให้มีการปฏิรูปสภาพการทำงานของแรงงานในกัมพูชาให้ดีขึ้น เนื่องในวันแรงงานสากล ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนนี้ส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและแรงงานก่อสร้าง โดยมีการถือป้ายเรียกร้องสิทธิแรงงานและเปล่งเสียงเรียกร้อง "แรงงานจงเจริญ" ตลอดเส้นทางการเดินขบวน ไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงพนมเปญ ซึ่งจากข้อมูลตามเว็บไซต์ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 6,000 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ มีผู้ใช้แรงงานกว่า 30,000 คน ออกมาเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าในปีนี้จะมีผู้คนออกมารวมตัวกันมากที่สุด เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังโควิด-19 ระบาด คาดว่าจะมีประชาชนราว 100,000 คนทั่วประเทศ ออกมาเดินขบวนตามเมืองต่าง ๆ ด้วย โดยตำรวจเกาหลีใต้ได้เตรียมแผนรักษาความสงบ และจะมีมาตรการเข้มงวดกับผู้ที่ก่อความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม โฆษกสหภาพแรงงานเกาหลีใต้เผยจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในช่วงเดือนกรกฏาคม หากปัญหาด้านแรงงานไม่ได้รับการแก้ไข

ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาววันแรงงานนี้ โดยที่สนามบินในกรุงมะนิลา เกิดเหตุไฟฟ้าดับทำให้เที่ยวบินในประเทศมากกว่า 40 เที่ยวถูกยกเลิกและล่าช้า แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากระบบไฟ้าขัดข้อง ซึ่งใช้เวลานานกว่า 9 ชั่วโมง จึงแก้ไขได้ระบบได้สำเร็จ

ส่วนที่กรุงโรมของอิตาลี รัฐบาลเตรียมเปิดใช้มาตรการกระตุ้นการจ้างงานและเพิ่มค่าจ้างในวันนี้ นอกจากนี้จะมีการออกมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับพนักงานที่มีบุตร สูงสุดไม่เกิน 3,000 ยูโร หรือราว 100,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นสวัสดิการพิเศษที่นายจ้างต้องมอบให้ลูกจ้างด้วย ท่ามกลางความไม่พอใจของสหภาพแรงงานที่มีต่อนายกรัฐมนตรีโจร์จา เมโลนี (Giorgia Meloni) ของอิตาลี