ลุ้นศาล รธน.ชี้ขาด ปม กฟผ.ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51%

View icon 391
วันที่ 9 ม.ค. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ข่าวนี้อาจต้องบอกว่านอกกระแส แต่อยู่ในใจประชาชนเลยล่ะ ก็คือเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้า ที่ปีนี้อยู่ในภาวะขาขึ้น จากสารพัดต้นทุนที่แพงขึ้น 15.00 น. วันนี้จะมีคำชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กฟผ.ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เดี๋ยวเราจะอธิบายให้ฟังว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับราคาค่าไฟฟ้ายังไง

สาเหตุที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ อาจส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าก็เป็นเพราะว่าในปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ทั้งประเทศอยู่ที่ 1 ใน 3 เท่านั้น นอกนั้นรับซื้อจากเอกชน นำมาซึ่งต้นทุนที่แพงขึ้น ที่มีการเรียกร้องมาตลอดทั้งจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เช่น มีค่าพร้อมจ่าย ใช้ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายในส่วนนี้ กลายเป็นเสมือนกับการประกันกำไรให้กับเอกชน แต่คนไทยต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น

ก็เลยมีคนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2559-2563 และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP พ.ศ. 2561-2580 ที่ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่า 51 เหลือแค่ 32 ในปัจจุบัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง หรือไม่ และจะชี้ขาดออกมา 15.00 น. วันนี้

คนที่ติดตามเรื่องพลังงานมาตลอดอย่าง คุณรสนา โตสิตระกูล ก็ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ชวนให้คนไทยติดตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่า กิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตของประชาชน ได้รับความคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญจะต้องไม่กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองของใครเข้ามาหากำไรบนภาระของประชาชน พร้อมให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบัน กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเองแค่ 30% เท่านั้น มีประเด็นค่าความพร้อมจ่ายที่เมื่อสักครู่เราก็เล่าให้ฟังไปแล้วว่าใช้ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายให้เอกชน

ขณะที่มีการผลิตไฟฟ้าล้นระบบถึง 54% ในปีที่แล้ว จึงมีข้อเสนอว่าต้องลดกำลังผลิตลง แทนที่จะเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มไปเรื่อย ๆ คุณรสนาก็หวังว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยให้ กฟผ.ต้องกลับมาผลิตไฟฟ้าเอง ไม่ใช่ให้สัดส่วนกับเอกชนมากเกินความจำเป็น กระทั่งกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน