นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับพนักงานบริษัท


   บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (“บริษัท”) ให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล บริษัทจึงมีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับพนักงานบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และเป็นการสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่พนักงานมอบไว้ให้กับบริษัท

ข้อ 1. ข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้างที่บริษัทจัดเก็บ

  • ข้อมูลส่วนบุคคลหมายถึงข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของพนักงานได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยบริษัทจะจัดเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานเท่าที่จำเป็นและถูกต้องตามความเป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์ ขอบเขตและวิธีการเป็นไปตามนโยบายนี้ ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทจัดเก็บได้แก่
  • 1.1 ข้อมูลเพื่อการระบุตัวตนของพนักงาน เช่น ชื่อ-นามสกุล ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อเล่น วัน-เดือน-ปีเกิด เพศ รูปถ่าย เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสพนักงาน สถานภาพการสมรส หรือสถานภาพทางการทหาร เป็นต้น
  • 1.2 ข้อมูลเพื่อการติดต่อ เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ชื่อบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ข้อมูลผู้ติดต่อฉุกเฉิน เป็นต้น
  • 1.3 ข้อมูลประวัติการศึกษาหรือประวัติการทำงาน ความรู้ความสามารถ การฝึกอบรม
  • 1.4 ข้อมูลคู่สมรส ครอบครัว หรือบุคคลอ้างอิง
  • 1.5 ข้อมูลทางด้านการเงิน เช่น ข้อมูลบัญชีธนาคาร เป็นต้น
  • 1.6 ข้อมูลละเอียดอ่อนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อในลัทธิ ศาสนา ความพิการ ข้อมูลสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลชีวภาพ (ลายนิ้วมือ ระบบจดจำใบหน้า) เป็นต้น
  • 1.7 ข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ เช่น ข้อมูลกองทุนประกันสังคม ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อมูลประกันกลุ่ม ข้อมูลผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น
  • 1.8 เอกสารอื่นซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคลที่พนักงานได้มอบให้ไว้แก่บริษัทเพื่อการปฏิบัติงาน เช่น บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง ใบประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
  • ข้อมูลใดที่พนักงานได้ส่งให้กับบริษัท จะต้องเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือหากภายหลังการจ้างบริษัทตรวจสอบพบ อาจมีโทษทางวินัยหรือเลิกจ้าง

ข้อ 2. ฐานตามกฎหมายที่บริษัทใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

  • บริษัทจะเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานตามวัตถุประสงค์ที่ได้ให้ความยินยอมไว้กับบริษัท สำหรับข้อมูลที่ต้องขอความยินยอมก่อน อย่างไรก็ตามบริษัทขอสงวนสิทธิในการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานโดยอาศัยฐานอื่นตามกฎหมาย นอกเหนือจากความยินยอมที่ได้ให้ไว้ ดังกรณีต่อไปนี้
  • 2.1 เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม วรรณกรรม ซึ่งเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • 2.2 เป็นการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการพิจารณาคดีของศาล
  • 2.3 เพื่อปฏิบัติตามสัญญาซึ่งพนักงานเป็นคู่สัญญาหรือใช้ในการดำเนินการตามคำขอของพนักงานก่อนเข้าทำสัญญา
  • 2.4 เพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัทหรือบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น
  • 2.5 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและและกิจการโทรทัศน์ ประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา เป็นต้น
  • 2.6 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเวชศาสตร์ป้องกันหรืออาชีวเวชศาสตร์ การประเมินความสามารถในการทำงานของ ลูกจ้าง การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ การให้บริการด้านสุขภาพหรือด้านสังคม การรักษาทางการแพทย์ การจัดการด้านสุขภาพ หรือระบบและการให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์
  • 2.7 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข
  • 2.8 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการเกี่ยวกับ การรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิตามกฎหมาย การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือการคุ้มครองทางสังคม
  • 2.9 เป็นการจำเป็นเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และสุขภาพของบุคคล
  • 2.10 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐได้มอบหมายหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • 2.11 เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อการศึกษาวิจัยเก็บสถิติ โดยมีมาตรฐานการป้องกันข้อมูลตามกฎหมาย
  • 2.12 เป็นการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลตามเหตุอื่นใดที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้อำนาจบริษัทสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมก่อน

ข้อ 3. วัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

  • บริษัทอาจเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล โอน หรือเปิดเผยข้อมูลของพนักงานเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  • 3.1 เพื่อนำมาใช้สำหรับประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคล
  • 3.2 เพื่อนำมาใช้สำหรับจัดสวัสดิการให้กับพนักงานตามความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงตรวจสอบสิทธิของพนักงานเพื่อจัดสรรสวัสดิการ
  • 3.3 ใช้สำหรับดำเนินการและนำส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านการคุ้มครองแรงงาน กองทุนประกันสังคม การรักษาพยาบาล บริษัทประกันภัย หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่พนักงานได้สมัครไว้
  • 3.4 ใช้สำหรับจัดทำฐานข้อมูลพนักงานของบริษัทเพื่อใช้ในการกำกับดูแลพนักงาน
  • 3.5 ใช้สำหรับประสานงานและจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกันสำหรับพนักงานกับบริษัทและธนาคารที่บริษัทเป็นพันธมิตร
  • 3.6 ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารกับพนักงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
  • 3.7 เพื่อใช้พิจารณาจัดสรรตำแหน่งและหน้าที่ให้เหมาะสมกับสุขภาพของพนักงาน
  • 3.8 เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 4. ระยะเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูล

  • บริษัทจะจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานไว้ตลอดระยะเวลาการเป็นพนักงาน และจะทำลายข้อมูลของพนักงานภายใน 5 ปี นับจากวันที่บริษัทสิ้นสุดความสัมพันธ์กับพนักงานในฐานะลูกจ้างของบริษัท หรือได้เพิกถอนความยินยอมสำหรับข้อมูลที่ได้ให้ความยินยอมไว้ หรือบริษัทอาจเก็บข้อมูลไว้นานกว่ากำหนด ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการตามกฎหมาย หรือดำเนินการตามข้อเรียกร้องของบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือมีกฎหมายกำหนดให้เก็บรักษาไว้

ข้อ 5.สิทธิของพนักงานในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

  • พนักงานมีสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ไว้กับบริษัท โดยร้องขอให้บริษัทดำเนินการตามสิทธิของพนักงานดังต่อไปนี้
  • 5.1สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานที่บริษัทจัดเก็บไว้และขอสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลนั้น หรือขอให้บริษัทเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยบริษัทจะดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำขอจากพนักงานตามระเบียบของบริษัท เว้นแต่เป็นกรณีที่บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งศาล
  • 5.2สิทธิขอรับหรือให้ส่งข้อมูลที่สามารถอ่าน ใช้งานหรือเปิดเผยได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติไปยังหน่วยงานหรือบุคคลอื่น
  • 5.3สิทธิคัดค้านการเก็บ ใช้ เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีที่บริษัทสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนบุคคลของพนักงานได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม เว้นแต่บริษัทสามารถแสดงให้เห็นถึงเหตุอันชอบธรรมตามกฎหมาย
  • 5.4สิทธิขอให้บริษัทลบ ทำลายหรือระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานที่บริษัทเก็บรักษาไว้ หรือให้บริษัทดำเนินการทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่บริษัทเก็บรักษาข้อมูลไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือบริษัทมีสิทธิในการเก็บรักษาตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนดไว้
  • 5.5 สามารถขอให้บริษัทปรับปรุง แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานให้เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
  • 5.6สิทธิถอนความยินยอม ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานได้ สำหรับข้อมูลที่พนักงานได้ให้ความยินยอมไว้ แต่การถอนความยินยอมของพนักงานจะไม่กระทบต่อการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่พนักงานได้ให้ความยินยอมไปแล้วก่อนหน้านี้
  • 5.7สิทธิยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนบุคคล
  • บริษัทจะดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้รับมอบอำนาจ ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย (“ผู้ร้องขอ”) บริษัทจะพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดตามกระบวนการรับเรื่องของบริษัท ทั้งนี้หากมีค่าใช้จ่าย บริษัทจะแจ้งให้ผู้ร้องขอทราบก่อนดำเนินการ
  • ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามที่ผู้ร้องขอได้ร้องขอไว้ข้างต้น บริษัทจะดำเนินการ แจ้งเหตุผลให้กับผู้ร้องขอได้รับทราบ โดยผู้ร้องขอสามารถคัดค้านหรือโต้แย้งได้โดยบริษัทจะบันทึกคำโต้แย้งหรือคัดค้านไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 6. บุคคลหรือหน่วยงานที่ข้อมูลอาจถูกส่งไปจัดเก็บหรือเปิดเผย

  • บริษัทอาจมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานไปเก็บรักษาหรือเปิดเผยให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลดังต่อไปนี้
  • 6.1 หน่วยงานราชการ หน่วยงานด้านภาษี หน่วยงานด้านแรงงาน สำนักงานประกันสังคม หรือหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือหน่วยงานในลักษณะเดียวกัน ในกรณีที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเพื่อการปฏิบัติงานตามที่พนักงานได้รับมอบหมาย
  • 6.2 บริษัทในเครือ ธนาคาร สถาบันทางการเงิน โรงพยาบาล สถานพยาบาล บริษัทประกันภัยหรือพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • 6.3 ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านทนายความ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้สอบบัญชี นักบัญชี และผู้รับประกันภัย ที่ให้บริการแก่บริษัท

ข้อ 7. มาตรฐานการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัย

  • บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัท ได้เก็บรวบรวมและรักษาไว้ โดยการเข้าถึง การใช้และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวจะกระทำ ได้โดยพนักงานที่บริษัทมอบหมายหน้าที่ไว้เท่านั้น และบริษัทจะมีมาตรการตรวจสอบการทำงานและการ ใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทจะมีการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างสม่ำเสมอด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเพื่อป้องกัน ความเสียหายและการนำไปใช้งานในทางที่ผิด โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นโยบายการบริหารจัดการ และความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (https://www.ch7.com/privacy-policy)

ข้อ 8. ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

  • หากพนักงานประสงค์จะติดต่อบริษัท เพื่อใช้สิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล พนักงานสามารถติดต่อไปที่เจ้าหน้าที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ที่

  • หมายเลขโทรศัพท์ 0 2495 7777
  • บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7HD)
  • เลขที่ 998/1 ซอยร่วมศิริมิตร (พหลโยธิน 18/1) ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900

  • บริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยบริษัทจะมีการประกาศการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบนเว็บไซต์ของบริษัท และแจ้งให้พนักงานรับทราบทางอีเมลที่บริษัทจัดหาให้หรือประกาศเวียนภายในของบริษัท

  • มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564
  • บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด