สปส. เพิ่มความสะดวกใน 2 ช่องทาง เพื่อนายจ้างแจ้งการเข้า-ออกของลูกจ้างได้ง่ายขึ้น

View icon 343
วันที่ 24 ต.ค. 2566
แชร์

สำนักงานประกันสังคมมีความมุ่งมั่นในการสร้างหลักประกัน เพื่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างทุกคนให้ได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครองชีวิตจากการทำงานที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมทั้งสิ้น 7 กรณี ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนให้ผู้ประกันตนภายใน 30 วัน ถือเป็นหน้าที่สำคัญของนายจ้างที่ไม่อาจละเลยได้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่เข้าทำงาน โดยนายจ้างมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงาน และการรับลูกจ้างใหม่ทุกครั้งจะต้องดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน เช่นกัน โดยใช้แบบฟอร์ม สปส.1-03 ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างให้สามารถขึ้นทะเบียนลูกจ้างได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งยื่นเรื่องลงทะเบียนลูกจ้างได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ยื่นผ่านระบบ e-Service ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และ 2. ยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

นอกจากนี้ทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าว นายจ้างยังสามารถแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงาน เลิกจ้าง โดยใช้แบบฟอร์มการแจ้ง สปส.6-09 รวมถึงการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน ทั้งข้อมูลชื่อ-สกุล หรือข้อมูลสถานภาพครอบครัว และข้อมูลจำนวนบุตร โดยใช้แบบฟอร์ม สปส.6-10 โดยทั้งหมดนี้นายจ้างจะต้องแจ้งข้อมูลภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเข้า-ออกกับสำนักงานประกันสังคม ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองทั้ง 7 กรณี ประกอบด้วย การเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน ซึ่งเมื่อขึ้นทะเบียนลูกจ้างแล้ว จะต้องดำเนินการโดยส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมได้อย่างคุ้มค่าและครบถ้วน โดยเงินสมทบนี้จะเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องสมทบเข้ากองทุนทุก ๆ เดือน

อย่างไรก็ตามหากนายจ้างละเลยไม่แจ้งการขึ้นทะเบียนลูกจ้างหรือไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงจะมีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบให้ทันกำหนดเวลาที่สำนักงานประกันสังคมระบุไว้ได้ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของเงินสมทบที่ต้องนำส่ง โดยนายจ้างสามารถชำระเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มได้ที่สำนักงานประกันสังคมหรือธนาคารที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีกิจการเป็นเจ้าของคนเดียว เจ้าของกิจการคือนายจ้างจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้ หากนายจ้างหรือลูกจ้างมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Line@ssothai หรือเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

653787a6576014.62153804.jpg

653787a66ab608.48800356.jpg