ผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟเผยความเหลื่อมล้ำในภาคใต้ โดยเด็กขาดภูมิคุ้มกันโรค เผชิญปัญหาโภชนาการ และขาดทักษะการเรียนรู้

View icon 99
วันที่ 27 ก.ย. 2566
แชร์

จังหวัดสงขลา, 27 กันยายน 2566ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีแบบเจาะลึกระดับจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่าแม้การพัฒนาเด็กในภาพรวมของทั้งประเทศจะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่เด็กในภาคใต้จำนวนมากยังคงขาดแคลนและเข้าไม่ถึงการพัฒนาในอีกหลายมิติ เช่น ขาดโภชนาการที่เหมาะสม ขาดภูมิคุ้มกันโรค ไม่ได้เข้าเรียน และขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้

ผลสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย 2565 หรือ MICS (Multiple Indicator Cluster Survey 2022) ซึ่งมีการเผยแพร่ผลสำรวจระดับชาติไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดในวันนี้เป็นการสำรวจแบบเจาะลึกใน 12 จังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ซึ่งรวมถึง 6 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ระนอง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้ทำให้ทราบสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในระดับจังหวัด รวมทั้งเกิดความเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กและสตรี ส่งผลให้สามารถวางแผนงานและกำหนดโครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาเด็กและสตรีได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของจังหวัด นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังใช้เป็นพื้นฐานของตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ในหลายเป้าหมาย เพื่อสนองต่อนโยบายระดับประเทศที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

ผลสำรวจแบบเจาะลึกได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเชิงบวกในบางมิติของพื้นที่ภาคใต้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในภาคใต้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มากกว่าเด็กในภาคอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก โดยมีเด็กในภาคใต้ไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 25 

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจแบบเจาะลึกยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลในอีกหลายมิติ โดยเฉพาะในจังหวดชายแดนภาคใต้ ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กอายุ 1 ปีในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานีเพียงร้อยละ 44, 29, และ 27 ตามลำดับเท่านั้นที่ได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วน เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด โปลิโอ และวัณโรค เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ร้อยละ 83

นอกจากนี้ เด็กในภาคใต้ยังเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของพวกเขาในระยะยาว ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 26 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดระนองมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13 ถึง 2 เท่า ในขณะที่อัตราเตี้ยแคระแกร็นของเด็กวัยนี้ในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาสก็น่ากังวลเช่นกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 20

นอกจากนี้ ภาวะผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในภาคใต้ก็น่าเป็นห่วง ในจังหวัดสงขลาอัตรานี้สูงถึงร้อยละ 26 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 7 เกือบ 4 เท่า และในจังหวัดนราธิวาส อัตรานี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกิน 2 เท่า ที่ร้อยละ 16

การสำรวจแบบเจาะลึกยังพบว่า อัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยและทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเด็กในภาคใต้ก็น่าเป็นห่วง โดยมีเด็กอายุ 3-4 ปีในจังหวัดยะลาเพียงร้อยละ 57 เท่านั้นที่เข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 75 ในขณะที่อัตรานี้ในจังหวัดระนองและนราธิวาสก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 61 และ 65 ตามลำดับ

นอกจากนี้ แม้เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทุกคนได้เข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษา แต่เด็กจำนวนมากกลับยังคงขาดทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น  โดยมีเด็กอายุ 7-8 ปี (อายุเข้าเกณฑ์เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3) ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 47 ทั้งนี้ อัตราของเด็กที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานในจังหวัดปัตตานีและยะลาก็ต่ำเช่นกัน  โดยอยู่ที่ร้อยละ 17 และ 27 ตามลำดับ

ภาคใต้ยังมีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงที่สุดของประเทศไทย โดยมีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนปลายถึงร้อยละ 21 ในจังหวัดนราธิวาส, ร้อยละ 20 ในจังหวัดปัตตานี และร้อยละ 19 ในจังหวัดระนองที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15

การสำรวจยังพบอีกว่า เด็ก ๆ เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นและใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้นานขึ้น ในขณะที่อ่านหนังสือที่บ้านน้อยลง ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นมีหนังสือสำหรับอ่านที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม และในจังหวัดสตูล สงขลา และปัตตานี มีเด็กเพียง 1 ใน 5 คนที่มีหนังสือที่บ้าน ซึ่งล้วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 36

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลสถิติสำหรับใช้ติดตามความก้าวหน้าด้านสถานการณ์เด็กและสตรี ผมมั่นใจว่าผลการสำรวจในครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีในระดับจังหวัดให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุม โภชนาการในเด็กอย่างเหมาะสม หรือการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น”

นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “นี่คือสัญญาณสำหรับพวกเราทุกคนซึ่งต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน การสำรวจแบบเจาะลึกทำให้เราเห็นปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และพัฒนาการของเด็ก ๆ ในระยะยาวหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นจากทุกฝ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งเด็กคนใดในประเทศไทยไว้ข้างหลัง”

###
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย  (Multiple Indicator Cluster Survey) จัดทำขึ้นทุก 3 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ การสำรวจฯ ในปี 2565 เก็บข้อมูลกว่า 130 ตัวชี้วัดเกี่ยวกับสุขภาพ พัฒนาการของเด็กและการปกป้องคุ้มครองเด็กและสตรีในกว่า 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยจัดทำขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม 2565 และมีการแถลงผลสำรวจระดับชาติในเดือนกรกฎาคม 2566

ดาวน์โหลดรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีแบบเจาะลึกใน 12 จังหวัดของประเทศไทย 2565 ได้ ที่นี่

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ณัฐฐา กีนะพันธ์ 086 616 7555 nkeenapan@unicef.org, สิรินยา วัฒนสุขชัย 084 700 0185, swattanasukchai@unicef.org

สำนักงานสถิติแห่งชาติ: อาภาพร อมรธรรม, 086 040 6147, ภัสธารีย์ ปานมี, 087 970 9399, socialplan61@gmail.com 


6513e2e39efad6.99275204.jpg

6513e2e42f6fa2.67261490.jpg

6513e2e4c6e725.34381733.jpg

6513e2e5559857.61037868.jpg

6513e2e59b4de3.00602856.jpg

6513e2e5c9d764.87869859.jpg