นายจ้างที่มีลูกจ้าง อย่าลืมขึ้นทะเบียนประกันสังคมภายใน 30 วัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 7 กรณี

View icon 590
วันที่ 2 พ.ย. 2565
แชร์

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในสภาวะเช่นนี้ธุรกิจต่าง ๆ พากันทยอยกลับมาดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเปิดตัวธุรกิจหรือกิจการใหม่ ๆ ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจึงขอเน้นย้ำสำหรับนายจ้างที่มีธุรกิจ สถานประกอบการหรือเปิดกิจการใหม่ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปจะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนประกันสังคม โดยลูกจ้างต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่เข้าทำงาน

นายบุญสงค์  ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่มีธุรกิจ สถานประกอบการ หรือเปิดกิจการใหม่จะต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน หากสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายจ้างสามารถยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ณ สถานประกอบการตั้งอยู่ ส่วนภูมิภาคสามารถยื่นแบบขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ณ สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยกรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) ทั้งกรณีลูกจ้างที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบประกันสังคมและลูกจ้างที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว ถ้ากรณีผู้ประกันตนเป็นคนต่างด้าว ใช้สำเนาใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานและสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือสำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) หรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่หากเป็นกรณีที่กิจการเป็นเจ้าของคนเดียว เจ้าของกิจการคือนายจ้างจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้ ทั้งนี้การทำให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายแรงงานนั้น ถือเป็นการช่วยสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้กับผู้ประกันตนด้วยสิทธิประโยชน์ 

7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพและกรณีว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้ว นายจ้างจะต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือนให้กับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินสมทบที่นายจ้างหักจากเงินเดือนลูกจ้างและเงินสมทบที่นายจ้างนำมาสมทบด้วยในอัตราที่เท่ากัน เพื่อนำเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งฐานค่าจ้างที่นำมาคำนวณต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท (83 บาท) และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (750 บาท) และรัฐออกเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยส่วนหนึ่ง หากนายจ้างส่งเงินสมทบไม่ทันกำหนด นายจ้างจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่ง โดยนายจ้างสามารถชำระเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มได้ที่ธนาคารที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้ นายจ้างสามารถยื่นแบบ สปส.1-03 (ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน) สปส.6-09 (แจ้งความสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน) และสปส.6-10 (แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน) ผ่านบริการ e-Service สำหรับนายจ้างได้ที่ www.sso.go.th หรือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และทาง Line : @ssothai

#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506


6362371334e330.27120512.jpg

636236fa597a29.07934031.jpg