แถลงข่าวศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด “ปลดล็อกกรุงเทพฯ จาก CI เด็กถึงเมืองปลอดภัยของกลุ่มเด็กเปราะบาง” ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ไม่ให้เด็ก ๆ ต้องโดดเดี่ยว #savekidscovid19

View icon 94
วันที่ 31 มี.ค. 2565
แชร์

วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกาย (Community Isolation) กทม. เวลา 09.30 น. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด โดยความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กรมสุขภาพจิต และยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนจาก กทม. เครือข่ายคลองเตยดีจัง และภาคีเครือข่าย เตรียมพื้นที่และรูปแบบการจัดบริการของศูนย์พักคอยต้นแบบสำหรับแม่และเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการรักษาและดูแลโดยครอบครัว และลดการรักษาเด็กใน รพ.

 
6244290ebde246.92837541.jpg
 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็กที่จัดเป็นกลุ่มเปราะบาง ยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง  ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด มีการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่   27 กรกฎาคม 2564 – 28 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 6,535 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ เช่น ยากจน ได้รับการเลี้ยงดูมิชอบ ถูกทารุณกรรม ฯ 4,489 คน และเป็นเด็กกำพร้า 448 คน ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลช่วยเหลือทั้งในด้านกระบวนการสังคมสงเคราะห์และการประสานด้านสาธารณสุข ในส่วนของเด็กกำพร้าต้องดูแลเยียวยาในระยะยาว ข้อมูลเด็กกำพร้าได้ถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบันเด็กกำพร้า 448 คน มีแผนที่ชีวิตสำหรับการพัฒนาเป็นรายบุคคล ได้รับการดูแลในรูปแบบครอบครัวโดยอยู่กับพ่อหรือแม่ 228 คน อยู่กับครอบครัวเครือญาติ 153 คน อยู่กับครอบครัวเพื่อนบ้าน 2 คน และอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เป็นเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ 5 คน มีการจัดบริการสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพจิต ร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจทั้งเด็กและผู้ปกครองให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขภายใต้โครงการ 1 บ้าน 1 โรงพยาบาล หรือ One Home One Hospital มีเด็กกำพร้า 319 คน ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างดำเนินการ ด้านการศึกษาและการพัฒนา ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และการดูแลด้านสวัสดิการสังคม โดยกองทุนคุ้มครองเด็กให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้ารวม 59 ราย และปี 2565 กองทุนฯ อนุมัติช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก
สถานการณ์แล้ว 15,855,300บาท มีเด็กได้รับความช่วยเหลือ 2,364 ราย ได้รับเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน 208 ราย และเงินสนับสนุนค่าตอบแทนและอุปกรณ์ป้องกันโรคแก่ครอบครัวอุปถัมภ์จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รวมถึงมีการระดมทรัพยากรภายใต้กิจกรรมเปิดเทอมใหม่ ปันน้ำใจ ส่งน้องไปเรียน (Back to School) เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาและสิ่งของพื้นฐานตามช่วงวัยสำหรับเด็กกำพร้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 161 คน ประกอบด้วยจังหวัดยะลา 66 คน ปัตตานี 57 คน และนราธิวาส 38 คน

6244290f937ae7.71655532.jpg
6244291065bbb3.52895064.jpg
624429114830f4.00861733.jpg
6244290deea617.91327492.jpg
 
สำหรับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน มีเด็กติดเชื้อรวม 234,790 คน แบ่งเป็น กทม. 27,156 คน และส่วนภูมิภาค 207,634 คน โดยจังหวัดที่มีเด็กติดเชื้อเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร   มีมากกว่าวันละ 400 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นเดือนที่มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงวันละประมาณ 4,000 – 5,000 คน และลดลงในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีสถิติที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน  ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อสายพันธ์โอมิครอนจะมีอาการไม่รุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในภาพรวมไม่สูงมาก จึงไม่ทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปัญหาสำคัญคือ การติดเชื้อและเจ็บป่วย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางและจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจึงมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เมื่อเด็กติดเชื้อ หรือคนในครอบครัวติดเชื้อ เด็กจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งมีกรมการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันราชานุกูล เป็นหลักในการดูแลเด็กป่วย โดย “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด” จะเป็นศูนย์ในการประสานและส่งต่อไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำกรณีกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การประสานหาเตียง การส่งยา การคัดกรองเชิงรุก การปฐมพยาบาลเยียวยาจิตสังคม การแสวงหาอาสาสมัครดูแลเด็กและครอบครัวอาสาสมัคร และการจัดให้มีศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็กแห่งนี้ โดยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและกลุ่มคลองเตยดีจัง เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา และไม่ต้องโดดเดี่ยว  กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กอายุ 1 – 15 ปี และแม่ของเด็ก (ผู้ป่วยสีเขียว ไม่สามารถดูแลได้ที่บ้าน และสามารถดูแลตนเองได้) มีห้องพักรองรับได้รวม 52 คน (ตอนนี้เด็กหายและกลับบ้านหมดแล้ว)

ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน นอกจากมีบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด เป็นหน่วยแรกรับและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเฉพาะหน้าตามความเหมาะสมแล้ว กระทรวงฯ ได้จัดให้มีผู้จัดการรายกรณี Case Manager เป็นทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่กรณีมีการแจ้งเหตุขอรับความช่วยเหลือครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญได้จัดให้มีสถานดูแลเด็กเพิ่มเติม 2 ประเภทเพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ได้แก่ สถานที่กักตัวแห่งรัฐ State Quarantine โดยจัดตั้งศูนย์แรกรับเด็กและครอบครัว โดยความร่วมมือกับจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ภายในสถาบันพระประชาบดี จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับเด็กและครอบครัวในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในระยะกักตัว รองรับได้ 50 คน และพร้อมเปิดให้บริการแล้ว สถานดูแลเด็กเพื่อดูแลเด็กไม่ติดเชื้อ หรือพ้นระยะกักตัว และขาดผู้ดูแล จำนวน 2 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช จ.ปทุมธานี รับเด็กชาย อายุ 6 - 8 ปี จำนวน 25 คน และสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี รับเด็กหญิงและเด็กชาย  อายุ 6 - 18 ปี จำนวน 25 คน ทั้ง 2 แห่ง รวมรับได้ 50 คน

  ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเด็ก หากพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งเหตุผ่าน สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม. - Line Official “savekidscovid19” - แอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรศัพท์ 06 5506 9574 และ 06 5506 9352 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.