องคมนตรี ไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

View icon 125
วันที่ 19 มี.ค. 2568
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
ที่สำนักงานชลประทานที่ 17 อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยเลขาธิการ กปร. และคณะฯ ไปรับฟังรายงานความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2567 จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีมวลน้ำสะสมจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ รวมถึงโครงการพระราชดำริ ได้รับความเสียหาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำใน 3 จังหวัด รวม 36 เครื่อง ส่วนโครงการพระราชดำริที่เสียหาย ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดนราธิวาส ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 13 อำเภอ 77 ตำบล 591 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 98,127 คน เสียชีวิต 4 คน มีพื้นที่ปลูกพืช ประมง ปศุสัตว์ บ้านเรือน และสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง หน่วยงานต่าง ๆ ได้มอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม และข้าวกล่อง มอบเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต รวมถึงซ่อมแซมความเสียหายต่าง ๆ

โอกาสนี้ ได้เชิญพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงาน ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือราษฎรได้ทันท่วงที รวมถึงเสนอแนะให้หน่วยงานร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริประสานการทำงานร่วมกัน ช่วยดูแลรักษา ซ่อมแซมให้โครงการพระราชดำริ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในตอนบ่าย เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก อำเภอตากใบ ติดตามการดำเนินโครงการระบบส่งน้ำบ้านเกาะสะท้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบัน สามารถบรรเทาอุทกภัยป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ และส่งน้ำจืดให้พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่การเกษตร เป็นแหล่งปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง "ซีบูกันตัง" แหล่งสำคัญของจังหวัดนราธิวาส รวมถึงแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 7,750 ไร่ มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำเกาะสะท้อน มีสมาชิก 1,291 คน เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งให้กับราษฎรในพื้นที่

จากนั้น ไปติดตามการดำเนินงานโรงสีข้าวพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอตากใบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น พร้อมพระราชทานเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินงาน โดยมีแผนจะปรับปรุงโรงสีข้าวและพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าว ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2567 เมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลให้เครื่องสีข้าวกลับมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า เกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบครบวงจร นับเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีอันจะทำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติสู่หลักการรวมกลุ่มของคนในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง