สุริยะ มั่นใจ แพทองธาร ไม่ซ้ำรอย พ่อ-อา

View icon 32
วันที่ 16 ส.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างออกมาแสดงความยินดีกับนางสาวแพทองธารที่ได้นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 โดย นายสุริยะ แกนนำเพื่อไทย มั่นใจช่วยประเทศชาติและประชาชนได้ ไม่ซ้ำรอยคุณพ่อ และคุณอา ในอดีต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวแสดงความยินดีกับนายกฯ คนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 3 ในตระกูลชินวัตร นางสาวแพทองธาร อยู่ในแวดวงการเมืองตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทย โดย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ว่าจะไปไหนก็จะพา นางสาวแพทองธาร ไปด้วย เชื่อว่า นางสาวแพทองธาร ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองมานาน เชื่อมั่นว่า นางสาวแพทองธาร จะช่วยประเทศชาติได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ได้อย่างดี ซึ่งยุคนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ อย่างนายกฯ ฝรั่งเศส ก็อายุยังน้อย โลกวันนี้แข่งกันที่ความรวดเร็ว คนรุ่นใหม่จะทำได้ดีมาก ตนเชื่อมั่นอย่างนั้น

อนุทิน ยินดี แพทองธาร นั่งนายกฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก ส่วนเรื่องของโควตารัฐมนตรีนั้น พรรคร่วมฯ ยังตกลงกันว่าทุกพรรคยังทำงานเหมือนเดิม ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ จึงยังพอมีเวลาอยู่ เช่นเดียวกับเรื่อง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ต้องคุยกันในวันนั้นด้วย เพราะขณะนี้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข แต่ต่อสู้เพื่อให้มีกฎหมายออกมาควบคุมกัญชาสำหรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์

ส่วนในอนาคตจะย้ายกลับไปดูแลกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น นายอนุทิน ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการต่อรองและพอใจกับสภาพการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สุดารัตน์ ซัด 6 สส. ขัดอุดมการณ์ ไทยสร้างไทย
ส่วนกรณีที่ สส.พรรคไทยสร้างไทย 6 คน ซึ่งอยู่ฝ่ายค้าน แต่โหวตเห็นชอบนางสาวแพทองธาร เป็นนายกฯ นั้น ล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ดิฉัน และผู้บริหารพรรคไทยสร้างไทย ขอยืนยันว่าพรรคไทยสร้างไทย มีจุดยืนรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย และทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่ซื่อสัตย์ต่อเสียงประชาชน และต้องปฏิบัติตามมติของพรรคฝ่ายค้านร่วม

ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยสร้างไทย ควรมีจิตสำนึกต่อการทำหน้าที่อย่างสุจริต ในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภา การลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากพรรครัฐบาลในวันนี้ ถือว่าเป็นการขัดต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างไทย และผิดมารยาทในการทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งในเวลา 14.00 น. วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยสร้างไทย ที่ขัดต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างไทย

ฐากร แจงไม่ใช่งูเห่า โหวตเห็นชอบ แพทองธาร
ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ชี้แจงภายหลัง สส. ทั้งหมดของพรรค 6 คน ลงมติเห็นชอบให้ นางสาวแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า การโหวตวันนี้คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งแจ้งกับประธานวิปฝ่ายค้านแล้ว พรรคมองว่าหากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้ามา ก็ต้องเลือกโหวตพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่แล้ว

ย้ำว่าการโหวตเห็นชอบครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะนางสาวแพทองธาร แต่เป็นเพราะเสนอเพียงชื่อเดียว เมื่อมีคนเดียวจะปล่อยให้ประเทศไม่มีนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศต่อไปได้อย่างไร ยืนยันว่า โหวตด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีการติดต่อจากพรรคเพื่อไทยใด ๆ และไม่มีการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลด้วย ยืนยันว่าไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใด ๆ รวมถึงการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย

นายฐากร ยืนยันว่า การโหวตเช่นนี้ยังอยู่กับพรรคร่วมฝ่ายค้านเช่นเดิม ดังนั้น การอภิปรายงบประมาณที่กำลังจะเข้าสู่สภาฯ ก็จะอภิปรายไม่เห็นด้วยในหลักการเช่นเดิม ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นงูเห่านั้น ยืนยันว่าไม่มีเด็ดขาด เพราะพรรคไม่ได้มีมติออกมา พร้อมย้ำว่าไม่ได้ลอยแพคุณหญิงสุดารัตน์แน่นอน 

พรรคครูไทยฯ ประกาศเป็นฝ่ายอิสระ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน
ส่วน นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ในฐานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่กลับลงมติเห็นชอบ นางสาวแพทองธาร เป็นนายกฯ ว่า การโหวตดังกล่าวไม่ได้มีการพูดคุยหรือตกลงกับพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการตัดสินใจโดยอิสระ การลงมติเห็นชอบ เพราะมีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว และไม่ต้องการคัดค้าน

ส่วนหลังจากนี้จะถูกจัดให้อยู่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งบทบาทการทำงานในขณะนี้ถือว่าเป็นฝ่ายอิสระ ที่ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ซึ่งได้พูดคุยกับ สส.พรรคเล็ก ทั้งพรรคใหม่และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่เป็นฝ่ายค้าน ที่โหวตเห็นชอบเช่นกันว่าการทำงานนั้นถือว่าเป็นอิสระ แต่ละพรรคมีสิทธิพิจารณาตามหลักการประชาธิปไตย

ส่วนการทำงานในสภาหลังจากนี้ เมื่อสภาเห็นชอบนายกฯ แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งตนต้องการเห็นนโยบายด้านการศึกษาเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครู และการปฏิรูปการศึกษา