"พล.อ.ประยุทธ์" ชี้แจงการบริหารหนี้สาธารณะ ระบุ ตั้งแต่ปี 57 ชำระหนี้แล้วกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

View icon 359
วันที่ 31 พ.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“พล.อ.ประยุทธ์” แจงยิบ บริหารหนี้สาธารณะ ระบุ หนี้สาธารณะ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.30% ของ GDP อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และตั้งแต่ปี 57 ชำระหนี้แล้วกว่า 2.6 ล้านล้านบาท เป็นยอดชำระหนี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านๆ มา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊กวันนี้ (31 พ.ค.66) ระบุข้อความว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (30 พ.ค.66) ได้ติดตามรายงานการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ ที่ถือว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สะท้อนความแข็งแกร่งระบบเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลก สรุปได้ดังนี้

1. หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 ประมาณ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.30% ของ GDP ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง คือ 70% ของ GDP โดยที่มาของหนี้สาธารณะ เกิดจาก...
          (1) หนี้ที่รับช่วงมาจากรัฐบาลในอดีต
          (2) หนี้ที่มาจากการกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค พลังงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัย คิดเป็น 75% ของเงินกู้
          (3) ในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลก เราจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขสำหรับการควบคุมโรค ดูแลรักษาช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ภาระหนี้ของรัฐบาลกว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ ที่เหลือเพียงส่วนน้อยมากเป็นหนี้ต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ 88.6% เป็นหนี้ระยะยาว และ 11.4% เป็นหนี้ระยะสั้น ทำให้เรามีความคล่องตัว-ไม่กดดัน ในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

3. รัฐบาลมีแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
          (1) การชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด (Pre-funding) ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเหมาะสม
          (2) การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
          (3) ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ก็ได้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ
          (4) ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ได้แปลงหนี้ที่เป็น "ดอกเบี้ยลอยตัว" ให้เป็น "ดอกเบี้ยคงที่" ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า ปัจจุบัน 85% เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่
          (5) การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเร่งชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการชำระหนี้สาธารณะไปแล้วมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาท นับเป็นยอดชำระหนี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านๆ มา
          (6) การเร่งรัดสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างงาน-สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เก็บภาษีได้สูงขึ้นในทุกกิจกรรม และเกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสามารถนำมาชำระหนี้ได้มากขึ้นด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จากการมุ่งสร้างเจริญก้าวหน้า การลงทุนเพื่ออนาคต การฝ่ามหาวิกฤตโลก และการบริหารหนี้สาธารณะ ที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากล ยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ มาอย่างต่อเนื่อง และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทย ยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และสามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของโลกในอนาคตได้ครับ