
พล.อ.ประวิตรฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับสาธารณรัฐคิวบาเป็นไปอย่างราบรื่นและฉันมิตร ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าในความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่สาธารณรัฐคิวบา ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันอิกร่า ขับเคลื่อนโครงการเจียระไนเพชรสู่วงการแพทย์ ที่มีแนวทางสำคัญ คือ การคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมโครงการเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาต่อในสาขาแพทย์ ในประเทศสาธารณรัฐคิวบา ซึ่งในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,794 คน ขณะที่ กรุงเทพมหานคร มีแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 700 คน ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานระดับโลก คือ 1 ต่อ 600 คน จึงจำเป็นจะต้องสร้างแพทย์ในพื้นที่ให้เพียงพอต่อประชากร
พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า ในฐานะประธาน กพต. ก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้ที่ประชุมทราบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้ พร้อมจะได้มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษากระบวนการและทำความร่วมมือเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาจากรัฐบาลสาธารณรัฐคิวบา ในสาขาคณะแพทยศาสตร์บัณฑิต (ปริญญาตรี) และเตรียมการให้มีการลงนามข้อตกลง MOU กับสถาบันการศึกษา อาทิ โรงเรียนแพทย์ละตินอเมริกา (อีแลม) และสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาแพทย์ในสาธารณรัฐคิวบาต่อไป ตนเองในนามประธาน กพต. ที่กำกับดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐคิวบาสำหรับความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
Mr. Hector Conde Almeida เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย กล่าวว่ายินดีอย่างยิ่งที่จะมีการยกระดับความร่วมมืออีกขั้นหนึ่ง ด้วยการส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในสาขาแพทย์ ณ สาธารณรัฐคิวบา ซึ่งเป็นแนวนโยบายทางการทูตของสาธารณรัฐคิวบา ในฐานะประเทศต้นแบบ ที่จัดบริการสาธารณสุขที่ดีระดับต้นๆ ของโลก

จากนั้น พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวภายหลังให้การต้อนรับ Mr. Hector Conde Almeida เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบาประจำประเทศไทย ว่า ประเทศคิวบาจะสนับสนุนนักเรียนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ไปเรียนแพทย์เป็นพันคน นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เมื่อถามว่าจะได้พัฒนาการการแพทย์เพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใช่ๆ