สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 328
วันที่ 4 ก.พ. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 14.14 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ทรงเปิดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2566 (Thailand Inventors' Day 2023) ในการนี้ พระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น และรางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 รวม 153 คน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานด้านการประดิษฐ์คิดค้นทั้งในและต่างประเทศ จัดงานฯ นี้ขึ้น ภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม" (Driving Thai Economy and Society through Inventions and Innovations) เพื่อเผยแพร่ ถ่ายทอดและขยายผล สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่สาธารณชน สร้างแรงบันดาลใจแก่นักประดิษฐ์ไทย และเยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กับนักประดิษฐ์จากนานาชาติ ตลอดจนสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการประดิษฐ์คิดค้นที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท และทอดพระเนตรนิทรรศการ "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย", นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ, นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า, นิทรรศการผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม กว่า 390 ผลงาน จากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ Highlight อีก 7 พื้นที่ เช่น พื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน, ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้,ขุมทรัพย์ป่าชายเลน ภายในงาน ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอด ความรู้ด้านการประดิษฐ์คิดค้นที่นำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์และขยายผลในเชิงพาณิชย์, การประชุมในหัวข้อที่ช่วยขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มากกว่า 80 หัวข้อ

คณะรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น "วันนักประดิษฐ์" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่คิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" และทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตร การประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" ในปี 2549

เวลา 17.39 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พิเศษ มารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ซึ่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 สิริอายุ 98 ปี

ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2468 เป็นบุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) กับนางผ่องศรี บุนนาค สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้น เข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีความสนใจในวิชากฎหมายตั้งใจเจริญรอยตามบรรพบุรุษ รับใช้สังคมทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม หลังลาออกจากราชการได้ทำงานเป็นทนายความช่วยเหลือประชาชนเป็นเวลานานถึง 29 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2535 ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังเป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย รวมถึงดำเนินการในเรื่องสวัสดิการแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยในรัฐสภาให้มีที่อยู่อาศัย ตลอดจนริเริ่มจัดหาสถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ด้วย ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงพันทิพา บุนนาค มีบุตรธิดา 2 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง