รัฐบาลเอาจริง ร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน ส่ง ผบ.ตร.ร่วมปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ ให้หมดสิ้น

View icon 393
วันที่ 3 ธ.ค. 2565
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (3 ธันวาคม 2565) พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ความสำเร็จอันเกิดจากความเอาจริงเอาจังของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลนโยบายด้านความความมั่นคงของประเทศ สืบเนื่องจากความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก  พลเอกประวิตรฯ จึงได้สั่งเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ อาทิ แก๊งค์คอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์ การหลอกให้รัก หลอกให้ลงทุน รวมไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาชน การเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake news) การเผยแพร่ภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนบุคคลสำคัญ หรือสถาบันหลักของชาติ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนสื่อสังคมออนไลน์ จนกล่าวได้ว่า พลเอกประวิตรได้แสดงบทบาทการนำนโยบายปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามในทุกมิติ

หนึ่งในผลงานทีโดดเด่นของพลเอกประวิตรฯ ได้แก่ การผลักดันศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center : AFNC) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม อันอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประชาชน ตลอดจนมีเครื่องมือในการจัดการแก้ไขและเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องต่อสาธารณะเพื่อรับแจ้งข่าวและเบาะแสของข้อมูลเท็จที่เผยแพร่อยู่ในสังคม โดยตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 62 – 31 ต.ค. 65 จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 942,821,174 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 39,346 ข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข้อความจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 19,065 เรื่อง สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุดอันดับ 1 คือ Social Listening Tools 99.89% รองลงมาคือ Line Official 0.10%, Twitter 0.01%, Facebook 0.00% และ Official Website 0.00% ตามลำดับ

สำหรับด้านการปราบปรามก็ได้สั่งการเร่งรัดศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ Police Cyber Taskforce (PCT) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งคดีอาชญากรรมออนไลน์ โดยผลงานล่าสุด พลเอกประวิตรฯ ได้สั่งกวาดล้างอาชญากรรมแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 65 ผู้สื่อข่าว เปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 22-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เจรจาขอความร่วมมือรัฐบาลกัมพูชาให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามเพื่อยุติปัญหาให้หมดสิ้นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยมี ตร.เป็นหน่วยแกนหลักที่ต้องบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มอบหมาย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เสร็จใน 3 เดือน โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน 132,747 เรื่อง แยกเป็น คดีออนไลน์ 22 ประเภท กรณีหลอกลวงซื้อขายสินค้าสูงสุด จำนวน 43,323 คดี การโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม จำนวน 18,143 คดี และการหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน จำนวน 15,887 คดี สามารถจับกุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 แยกเป็น พนันออนไลน์สูงสุด 697 คดี ผู้ต้องหา 1,198 คน และการหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน 686 คดี ผู้ต้องหา 782 คน

นอกจากการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พลเอกประวิตรฯ แสดงวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม โดยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการเศรษฐกิจดิจิทัล“THAILAND 4.0  ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด : THAILAND 4.0 THE FUTURE AND BEYOND” โดยได้ประกาศนโยบายผลักดันการส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิตัลซึ่งจะ เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ของประเทศ และทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนสังคมอันเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศ เป็น“ประเทศไทย 4.0” และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่พูดถึงย่อมมาพร้อมกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้เทคโนโลยี สมัยใหม่ และ ความรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ถือได้ว่า ผลการดำเนินงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพึงพอใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ขับเคลื่อนให้ก้าวหน้า นับว่าเป็นงานท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องเร่งปรับระบบงาน สนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยคุมคามทางไซเบอร์