7HDร้อนออนไลน์

พระอาจารย์"ไพศาล วิสาโล" ห่วงสื่อมวลชนไทยในยุคเปลี่ยนแปลง เฟคนิวส์เกลื่อน ต้องหนักแน่น สะท้อนความจริง เป็นแสงสว่างแก่ประชาชน

(17 ส.ค.64 ) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการออนไลน์ ในหัวข้อ “สื่อมวลชนไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง : บทบาทและความท้าทาย”  โดยเชิญสื่อมวลชนหลากหลายสาขา หลายสำนักเข้าร่วมเสวนา โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เป็นแกนหลักระดมความคิดเห็น รวมถึงมีการเชิญ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ บรรยายพิเศษหัวข้อ “อนาคตของสื่อมวลชนไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง “

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจว่า  “รู้สึกเห็นใจสื่อมวลชนในปัจจุบันที่ทำงานยากมาก เพราะเป็นยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงมากมาย  สื่อกำลังมีความสับสน ไม่แน่ใจในบทบาทของตัวเอง และเส้นทางที่ตัวเองเดินอยู่ ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เกิดความลังเล  ซึ่งน่าเห็นใจเพราะการปฏิวัติในยุคดิจิทัล สื่อมีคู่แข่งเยอะมาก ความคาดหวังของผู้คนต่อสื่อเปลี่ยนไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะเผยแพร่ ในเรื่องข้อเท็จจริงอย่างเดียว แต่ ต้องการให้สื่อมาตอบสนองความคิดตัวเองมากขึ้น  ทำให้มีการคาดหวังให้สื่อเลือกข้าง บทบาทที่สื่อคิดว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง และนำเสนอข้อเท็จจริง จึงกลายเป็นการถูกตั้งคำถาม บรรทัดฐานก็สั่นคลอน สื่ออยู่ยากขึ้น ไหนจะดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ต้องอาศัยโฆษณา สื่อจำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัว ว่าจะต้องเดินไปทางไหน 

ที่สำคัญและน่าเป็นห่วง ถ้ามองปรากฎการณ์ ของข่าวเท็จ หรือ “เฟคนิวส์”  ต้องมองว่า นี่เป็นข่าวล้มเหลวของสื่อ เพราะบางครั้งสื่อเป็นตัวเผยแพร่เฟคนิวส์เสียเอง หรือไม่ก็ไม่สามารถทำให้คน มาสนใจข่าวจริงได้ จริงๆแล้ว “เฟคนิวส์” มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจุบันสื่อไม่มีอิทธิพล พอที่จะทำให้คนรับรู้ข้อเท็จจริง จึงทำให้เฟคนิวส์แพร่ระบาดมากขึ้น

ที่น่ากลัว  การพัฒนาการเดิม ที่สื่อเป็น Mass Media  ต่อมา เป็น  Social Media   ตอนหลังมานี้กลายเป็น tribal Media คือกลุ่มสุดท้ายนี้ คือกลุ่มที่รวมตัว และมองคนที่คิดต่างจากตัวเองว่าเป็นคนละขั้วเท่านั้น  ทำอย่างไร สื่อจะแยกตัวออกจาก สื่อ” tribal” ที่ทำให้คนมีอคติกับคนที่เห็นต่าง

สื่อที่ดี ควรจะทำหน้าที่เป็นกลาง เป็นกระจกสะท้อนความจริงอย่างซื่อตรง   เป็นแสงสว่างให้กับประชาชน ให้คนเข้าใจโลกรอบตัว สังคมที่อยู่รอบตัว และต้องนำเสนอ 2 ทาง พร้อมนำเสนอทางออก  สื่อไม่ใช่อยู่บนหอคอยอย่างเดียว ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง แม้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำต่อไป
แม้บรรทัดฐาน ความเป็นกลาง จะถูกตั้งคำถาม ก็ควร ให้ความเป็นธรรม ให้ดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพ  และให้เหมาะสมกับยุคสมัย จะทำให้สังคมดีขึ้น  และน่าเป็นห่วงเด็กไทย ที่รับมือกับเฟคนิวส์ต่ำมาก เมื่อเทียบกีบประเทศอื่นๆ  สื่อที่มุ่งสนองความต้องการของคนในสังคมอย่างเดียว  จะครอบงำสื่อที่มุ่งเสนอความถูกต้องความจริงไปเรื่อยๆ 

“เป็นหน้าที่ของสื่อ ที่จะช่วยกันยกระดับ สื่อต้องหนักแน่น ไม่ว่าทำดีแค่ไหน ก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วย แม้ความถูกต้องไม่สำคัญเท่าความถูกใจ  พอไม่ถูกใจ ก็จะวิพากวิจารณ์ และทุกคนก็มีสื่อในมือ คือ โซเชียล คนทำงานจึงต้องหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว ง่ายๆ ไม่ใจร้อน แข่งกับเวลา นำเสนอให้เร็ว แต่ไม่ตรวจสอบ จึงทำให้ไม่มีคุณภาพ งานบางอย่างต้องใช้เวลา ค้นคว้า ค้นหาข้อเท็จจริง คนอื่นจะเร่งรีบอย่างไร ก็อย่าหวั่นไหวมาก ให้ตระหนักว่า เรากำลังต้องเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทุกวันนี้ เส้นแบ่งระหว่าง ความจริง กับชวนเชื่อ แทบแยกไม่ออก บันเทิง หรือดรามา  หรือความจริง ต้องย้อนมาถามตัวเอง ว่าสื่อจะทำงานอย่างไร ให้มีเส้นแบ่งชัดเจน ต้องใช้สติปัญญามาก คงต้องใช้เวลา ว่าเส้นทางที่ควรเดินไป ควรต้องทำอย่างไร” พระอาจารย์ไพศาล กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง