วันสำคัญ



ประวัติและความสำคัญของ
"วันครู"


ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ



ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจากบิดามารดาแล้ว ก็ยังมีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน ดังนั้นครูจึงนับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นผู้ที่เสียสละไม่แพ้กับบุพการีเลย ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาเรียนรู้ในด้านวิชาการ หรือประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบไป



วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัว ให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา



พ.ศ.2499
ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว



งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มี

การกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้





คำปฏิญาณของครู

ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม





จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

1.เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

2.ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

3.ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

4.รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

5.ถือปฏิบัติตามกฎระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับ

    บัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

6.ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

7.ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน

8.ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

9.สุภาพเรียบร้อย ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและสถานศึกษา

10.รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน





คำขวัญวันครู (จากอดีต ถึง ปัจจุบัน)

การจัดงานวันครูอันที่จริงมีมานานแล้ว ตั้งแต่ 16 มกราคม 2500 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2499 แต่เริ่มจัดให้มีคำขวัญเกี่ยวกับงานวันครูเมื่อไม่นานมานี้เอง แรกๆก็เป็นคำขวัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา) ต่อมาก็เป็นคำขวัญของบุคคลทั่วไปที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้



พ.ศ. 2522 - การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลาย ๆ ด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและในราชการขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกันและขอได้โปรด ตระหนักถึงหน้าที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป เจ้าของคำขวัญ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน

พ.ศ. 2523 - เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์

พ.ศ. 2524 - ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผนอันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการ ความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย เจ้าของคำขวัญ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต

พ.ศ. 2525 - ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละ ยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

พ.ศ. 2526 - อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

พ.ศ. 2527 - ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย

พ.ศ. 2528 - การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดีมีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจเมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครู ทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิด ผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย

พ.ศ. 2529 - ครูคือผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้า และอยู่รอดปลอดภัย เจ้าของคำขวัญ นายชวน หลีกภัย

พ.ศ. 2530 - ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค

พ.ศ. 2531 - ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค

พ.ศ. 2532 - ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

พ.ศ. 2533 - ครูคือผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

พ.ศ. 2534 - ครูคือผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

พ.ศ. 2535 - ครูคือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์

พ.ศ. 2536 - ครูคือนักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

พ.ศ. 2537 - ครูคือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

พ.ศ. 2538 - อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

พ.ศ. 2539 - ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล

พ.ศ. 2540 - ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและนำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล

พ.ศ. 2541 - ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายชุ,พล ศิลปอาชา

พ.ศ. 2542 - ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา เจ้าของคำขวัญ นายปัญจะ เกสรทอง ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางเซียมเกียว แซ่เล้า

พ.ศ. 2543 - ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เจ้าของคำขวัญ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู

ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ เสตเตมิ

พ.ศ. 2544 - พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์

พ.ศ. 2545 - สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี

พ.ศ. 2546 - ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นางสมปอง สายจันทร์

พ.ศ. 2547 - ครูคือพลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางสาวพรทิพย์ ศุภกา

พ.ศ. 2548 - ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นศรัทธาบุชาครู เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ หัวใจเพชร

พ.ศ. 2549 - ครูดีเป็นศรัแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นางพรรณา คงสง

พ.ศ. 2550 - สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู ปี เจ้าของคำขวัญ นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์

พ.ศ. 2551 - ครูของแผ่นดินเลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพลฯ ชนบูชา เจ้าของคำขวัญ นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม

พ.ศ. 2552 - ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางนฤมล จันทะรัตน์

พ.ศ. 2553 - น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที เจ้าของคำขวัญ นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์

พ.ศ. 2554 - เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล เจ้าของคำขวัญ นางกนกอร ภูนาสูง

พ.ศ. 2555 - บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล เจ้าของคำขวัญนางสาวขนิษฐา อุตรโส

 





อ้างอิง

www.panyathai.or.th

www.enconcept.com

http://blog.eduzones.com/jipatar/16533

Tag: วันครู,ประวัติและความสำคัญวันครู,ครู,ผู้มีพระคุณ,16 มกราคม,วันที่ 16 มกราคม,ความสำคัญของครู,คำขวัญวันครู

Bookmark and Share



วันสำคัญ

  • วันรัฐธรรมนูญ

    วันรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย) สำคัญอย่างไร   วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญ หรือ วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกๆ ปี เพื่อเป็นการระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ…

  • วันลอยกระทง

    วันลอยกระทง   วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา…

  • วันออกพรรษา

    วันออกพรรษา วันออกพรรษา หรือ วันมหาปวารณา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่…

  • วันปิยมหาราช

    ความเป็นมาของวันปิยมหาราช   วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต…

  • วันไหว้พระจันทร์

    วันไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลของชาวจีนโดยปกติจะมีวันเพ็ญ เดือน 8 ของจีน ซึ่งในภาษาจีน วันเพ็ญเดือนแปด คนจีนเรียกว่า “จงชิว”…

กิจกรรมละคร/ภาพยนตร์

Promotion Sheet

  • CH7 PROMOTION SHEET
    เดือนมิถุนายน 2559