วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 19:53 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรี ผู้แทนศาสนา ผู้แทนคณะพาณิชย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จออก ณ สีหบัญชร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะรัฐมนตรี ผู้แทนศาสนา ผู้แทนคณะพาณิชย์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

วันนี้ เวลา 16.54 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย พร้อมกันนี้ พระอนุวงศ์ และองคมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

จากนั้น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูล เบิก นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลาม ประธานหอการค้าไทย-จีน ประธานหอการค้าอินเดีย-ไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะพาณิชย์ และสมาคมธนาคารไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

จากนั้น นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูล เบิกผู้แทนคณะบุคคลต่าง ๆ ทางศาสนา ประกอบด้วย คณะโรมันคาทอลิก, คณะเพรสไบทีเรียน, คณะสภาคริสตจักรในประเทศไทย, สมาคมไทยซิกซ์แห่งประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

เสร็จแล้ว เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก แตร ทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล ในนามของราษฎรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ขอบใจประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในครั้งนี้

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี เสด็จลงจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ทั้งนี้ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ชั้นบนเป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวไปตามกำแพง มุขกลางด้านทิศตะวันออก มีระเบียงยื่นออกไปนอกองค์พระที่นั่ง สำหรับเสด็จออกสีหบัญชร เมื่อแรกสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีลักษณะเป็นพลับพลาโถงจตุรมุขเครื่องไม้ เรียกว่า "พลับพลาสูง" สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่ ในพระราชพิธีสรงสนานใหญ่ และทอดพระเนตรการฝึกช้าง สันนิษฐานว่าน่าเลียนแบบอย่างธรรมเนียมพระราชวังหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ และเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดปราสาท แล้วพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์"

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณะ พร้อมพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์" สำหรับเป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และทอดพระเนตรกระบวนแห่พระราชพิธี คเชนทรัศวสนาน ปัจจุบันเป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม ให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพุทธศักราช 2493