วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เวลา 20:06 น.

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

เวลา 16.30 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชานุสรณ์แห่งนี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2450 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำการตกลง และเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เองที่ประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังประทับเป็นแบบให้นายช่างปั้นหุ่น ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีสด้วย พระบรมรูปมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริง ประทับอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร มีโซ่ขึง สำหรับแท่นศิลาอ่อนด้านหน้า มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทย ติดประดับแสดงพระราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยืนนาน

ส่วนพระลานพระราชวังดุสิตนั้น อยู่ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสน ด้วยเงินพระคลังข้างที่อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า "สวนดุสิต" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างที่ประทับขึ้นและเสด็จพระราชดำเนินมาประทับบ่อยครั้งจึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น "พระราชวังสวนดุสิต" พระราชวังดุสิต ได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเช่นเดียวกัน

เวลา 16.38 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปถวายราชสักการะปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ สะพานพระพุทธยอดฟ้า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2472 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี พร้อมกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการคมนาคมให้กับประชาชน อีกทั้งเป็นการขยายพระนครด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดแบบ และอำนวยการก่อสร้างพระบรมรูป พร้อมกับสะพาน ที่กำหนดสร้างตรงช่วงปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนครให้เชิงสะพานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป และ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ปั้นซึ่งหล่อด้วยทองสำริด ลักษณะพระบรมรูป ทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่เหนือพระเพลา องค์พระบรมรูปความสูงตั้งแต่ฐานตลอดยอด 4 เมตร 60 เซนติเมตร ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร ฐานที่กว้าง 2 เมตร 30 เซนติเมตร มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปอีกชั้นหนึ่ง บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีต ตอนกลางรั้วหล่อเป็นแผ่นหินอ่อนมีลายไทย กึ่งกลางสลักตรา "ปฐมบรมราชจักรีวงศ์" เป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ พร้อมกับทรงเปิดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่พระราชทานนามว่า "สะพานพระพุทธยอดฟ้า" เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475

เวลา 16.48 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ หอพระพุทธรูป จากนั้น ทรงวางพวงมาลัยและทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะศาลหลักเมือง ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ภายในเสาศาลหลักเมือง มีช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้นนับจากนั้นเป็นต้นมา

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลเทพารักษ์ ทั้ง 5 พระองค์ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬชัยศรี เจ้าหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ เทพผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่บ้านเมือง

สำหรับศาลาศาลหลักเมือง มีรูปแบบเป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบเครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาในอดีต ได้รับการออกแบบโดย พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบครั้งนี้ ด้วย

เวลา16.59 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปยังพระบรมมหาราชวัง ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ณ หอพระสุราลัยพิมาน

จากนั้น เสด็จลง ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระบวรเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระที่นั่งรูปทรงแปดเหลี่ยม ทำด้วยไม้มะเดื่อปิดทองประดับกระจก พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่บนพระแท่นก่ออิฐถือปูน ลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อจากนั้น ทรงจุดธูปเงินเทียนทองท้ายที่นั่งบูชาพระสยามเทวาธิราช พระพุทธรูปสำคัญ มีลักษณะเป็นเทวรูปยืน สูงประมาณ 8 นิ้ว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกจีบเสมอพระอุระ ประดิษฐานในเรือนแก้ว ทำด้วยไม้จันทน์ มีลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน ที่เรือนแก้วมีคำจารึกอักษรจีน แปลความว่า เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ เรือนแก้วเก๋งจีน ประดิษฐานในมุกกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งกางกั้นด้วยพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร ตรงข้ามกับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยพราหมณ์จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสง ภายหลังทรงรับน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ ถวายราชสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเทวดารักษาพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตร พระแท่นราชบรรจถรณ์

จากนั้น เสด็จลงท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงจุดเทียนทองเทียนเงิน ธูป และธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวงสังเวย ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ อ่านประกาศบวงสรวง ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ จากนั้น ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ก่อนเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2562