วันที่ 6 เมษายน 2562 เวลา 20:02 น.

รายงานพิเศษ : น้ำศักดิ์สิทธิ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

น้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี ติดตามจากรายงานของ คุณนันทิพัฒน์ โปธาปัน
         
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งความสำคัญของพระราชพิธี อยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษก

"น้ำ" ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สำคัญ ก็คือ น้ำสรงพระมุรธาภิเษก ที่จะใช้รดเหนือพระเศียร มีความหมายถึงการยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการรดน้ำ ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และการรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในทิศทั้ง 8

โดยน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ประกอบด้วยน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย ที่เรียกว่า เบญจสุทธคงคา คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี รวมทั้งน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ

ส่วนน้ำอภิเษก ประกอบด้วยน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 108 แหล่งน้ำ ซึ่งจะต้องผ่านพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประกอบพิธีอันสำคัญนี้ จากนั้นจะตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 8 เมษายน และเชิญมาเก็บรักษาไว้ยังกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะเข้าสู่พิธีเสกน้ำอภิเษกรวม

วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นเป็น วัดกลางพระนคร และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ก็เป็นสถานที่ในการเสกน้ำอภิเษกรวม ตามฤกษ์เวลา 17.19-21.30 น. ของวันที่ 18 เมษายน

โดยตั้งมณฑลพิธี หน้าพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว จะมีการเชิญคนโทน้ำอภิเษก จากวัดสุทัศน์ฯ ไปเก็บรักษาไว้ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงการพระราชพิธีฯ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่ใช้น้ำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ แสดงถึงความมีส่วนร่วมของพสกนิกร ในพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งในแผ่นดินไทย