เปิดหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เตรียมเคาะ! ช่วยเหลือเกษตรกร

วันที่ 3 พ.ย. 2566 เวลา 16:12 น.

เปิดหลักเกณฑ์ ! ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แนะขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เตรียมพร้อมกรณีรับเงินเยียวยา  จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.66 ที่ผ่านมา มีการพิจารณา 4 มาตรการอุ้มราคาข้าว รักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ช่วยเหลือเกษตรกรปีการผลิต 66/67 วเงิน 69,043.03 บาท ได้แก่ 1.มาตรการชะลอการขาย เพื่อเก็บในยุ้งฉาง 1-5 เดือน จำนวน 3 ล้านตัน โดยเกษตรกรจะได้รับค่าช่วยฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน และกลุ่มสหกรณ์ จะได้รับค่าฝากเก็บ 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรจะได้ 500 บาทต่อตัน 2.มาตรการเก็บสต๊อกข้าวเปลือก-ข้าวสาร 2-6 เดือน จำนวน 10 ล้านตัน โดยโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก รัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 4 3.มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% 4.มาตรการช่วยลดต้นทุน โดยช่วยเหลือเกษตรกร 1,000 บาทต่อไร่ ตั้งเป้าจ่ายเงิน 1 พ.ย.66 - 30 ก.ย.67 กำหนดหลักเกณฑ์ดังนี้  -เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน -เยียวยาไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน -เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 66/67 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 66/67 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม นบข. ยังไม่ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท แก่เกษตรกรชาวนา โดยได้ให้แต่ละหน่วยงานนำมาตรการต่างๆ กลับไปพิจารณาเพื่อเข้าที่ประชุมอีกครั้ง รวมถึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา เพื่อวางมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แต่รัฐบาลแนะนำให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อรัฐบาลใช้เป็นฐานข้อมูลในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ โดยเกษตรกรรายใหม่ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถเลือกวิธีลงทะเบียนได้ดังนี้ 1.ยื่นแบบ ทบก.01 พร้อมด้วยบัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาหลักฐานถือครองที่ดิน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูกหรือจุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอนั้น ๆ กำหนด 2.ติดต่อผู้นำชุมชนหรือตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 3.ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th เมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการแล้ว เกษตรกรจะสามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรและติดตามผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบได้ สำหรับเกษตรกรรายเดิมที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และใช้แปลงเดิม สามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ผ่าน แอปพลิเคชัน Farmbook ทำได้ด้วยตัวเองผ่าน 6 ขั้นตอนดังนี้ 1.ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Farmbook ทั้งระบบ Android และ iOS 2.กดเลือกเมนูแจ้งปลูก 3.เลือกแปลงปลูก ที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 4.เลือกพืช ที่ต้องการแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 5.กรอกข้อมูล ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน 6.กดบันทึก   สำหรับการตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น (ซึ่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน) ทะเบียนเกษตรกร คือ ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน วัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อจัดทำข้อมูลการเกษตรให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และเป็นข้อมูลเอกภาพให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในการนำไปใช้วางแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดนโยบาย การจัดการด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย โดยผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว จะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ