ไทยหารือเยอรมนี เน้นการค้ายั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งขยายโอกาสการค้าการลงทุน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

วันที่ 1 พ.ย. 2566 เวลา 16:01 น.

‘พาณิชย์’ พบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ผลักดันสาขาที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการค้าอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่าน Soft Power เชื่อ FTA ไทย-อียู จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ ด้านไทยย้ำ! ให้ความสำคัญการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุน  นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ให้เข้าร่วมหารือกับนางเซรัพ กือเลอร์ (Mrs. Serap Güler) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐสภา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เนื่องในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย เพื่อหารือถึงภาพรวมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับเยอรมนี และความสำคัญของการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ นายภัณฑิล กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การค้าอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว SMEs และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power นอกจากนี้ ไทยเน้นย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศผ่านนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ความตกลงดังกล่าว มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ เยอรมนีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับเยอรมนี มีมูลค่า 10,829.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเยอรมนี มูลค่า 4,781.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเยอรมนี มูลค่า 6,047.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์