ตรีนุช เปิดใจอำลาตำแหน่ง ฝากคนใหม่สานต่อนโยบาย เชื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ

วันที่ 31 ส.ค. 2566 เวลา 15:37 น.

ตรีนุช เปิดใจอำลาตำแหน่ง ฝากคนใหม่สานต่อนโยบาย เชื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ วันนี้ (31 ส.ค.66) เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ  สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงและข้าราชการ ร่วมมอบดอกไม้ให้กำลังใจก่อนอำลาตำแหน่งรัฐมนตรี น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า ตนรู้สึกผูกพันกับกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการทุกคน เพราะอยู่ในตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ มาเป็นเวลา 2 ปี และขอขอบคุณผู้บริหารศธ.ทุกคนที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของตนจนประสบความสำเร็จ ทั้งนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย โครงการพาน้องกลับมาเรียน โครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีงานทำ และโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ซึ่งโครงการทั้งหมดถือเป็นโครงการที่สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้น ตนขอฝาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ว่าที่รมว.ศธ.คนใหม่เข้ามาช่วยสานต่อนโยบายด้วย เพราะตนมองว่าเป็นนโยบายที่ดี ส่วนตัวยังไม่ได้มีการประสานพูดคุยส่งไม้ต่อการทำงานกับพล.ต.อ.เพิ่มพูน แต่เชื่อมั่นว่าแม้พล.ต.อ.เพิ่มพูนจะเป็นข้าราชการตำรวจที่มาบริหารงานการศึกษาจะทำให้การปฎิรูปการศึกษาไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะผลงานต่างๆ ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน จะเป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวเอง “เรื่องสำคัญที่อยากจะฝากคือ การพัฒนาครูที่จะต้องปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เท่าทันกับโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งศธ.เป็นกระทรวงใหญ่องคาพยพในการบริหารงานมีความหลากหลาย หลักธรรมาภิบาลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการบริหารงาน เพื่อทำให้เกิดระบบมาตรฐานของความโปร่งใส” น.ส.ตรีนุช กล่าว ด้านคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ตนดีใจที่ได้มาทำงานร่วมกับน.ส.ตรีนุช และรู้สึกมีบุญที่ได้มาร่วมขับเคลื่อนงานการศึกษาของประเทศ ซึ่งตนรู้สึกผูกพันกับข้าราชการทุกคน เพราะอยู่ในตำแหน่งรมช.ศธ.มาถึง 4 ปี ดังนั้น ตนขอฝากรัฐบาลใหม่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กทุกคนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริที่ให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ทุกแห่งนำไปสร้างเป็นหลักสูตร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชน เพราะจะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างมาก