เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกระบาดหน้าฝน แนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มเด็กนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 3 มิ.ย. 2566 เวลา 14:37 น.

กรมควบคุมโรค เตือนโรคไข้เลือดออกกลับมาระบาด ช่วงฤดูฝน พบ 5 เดือนแรกของปี แนวโน้มผู้ป่วยกลุ่มเด็กนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ 3 มิ.ย.66 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากเป็นไปตามวงรอบของปีที่จะระบาด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 18,173 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 5-14 ปี (6,088 ราย อัตราป่วย 79.00) รองลงมา 15-24 ปี (4,247 ราย อัตราป่วย 49.53) ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคม คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และระยอง ตามลำดับ ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงอย่างต่อเนื่อง 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ หากมีอาการที่คาดว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์ทันที   โดยการป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีที่สุด คือการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ