สนธิญา จี้ กกต.เร่งวินิจฉัยปม พิธา ถือหุ้นไอทีวี

วันที่ 29 พ.ค. 2566 เวลา 13:14 น.

สนธิญา จี้ กกต. เร่งวินิจฉัยปม พิธา ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันไม่ใช่การกลั่นแกล้ง-โกรธเคืองส่วนตัว ชี้ ผิดรัฐธรรมนูญ สนธิญา จี้ กกต.สอบปมนายพิธาถือหุ้นสื่อ วันนี้ (29 พ.ค.2566) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติม กรณีเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เร่งวินิจฉัยกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสนธิญา เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ กกต. โทรศัพท์เชิญมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวไม่ใช่คนร้องเรียนเป็นหลัก แต่เพียงมาเร่งให้ กกต. สรุปว่า ระยะเวลาการตรวจสอบเรื่องนี้จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ จึงทราบว่าจะทำคดีให้เสร็จหลังการรับรอง สส.แล้วจะส่งเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียนไปถึงประชาชนและพระพยอม กัลยาโณ ว่า การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็โดนด่าโดนว่า แต่แท้จริงแล้วเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่มาของ สส.ตามรัฐธรรมนูญ ม.98 ซึ่งมีทั้งหมด 18 ข้อที่เป็นข้อบังคับหากทำไม่ถูกต้องตาม 18 ข้อนี้จะลงสมัคร สส.ไม่ได้ ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ไม่ใช่เรื่องของความเมตตาธรรม เพราะผู้ลงสมัคร สส.แล้วได้รับเลือกก็จะต้องเข้าไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎรก็คือกระบวนการของสภานิติบัญญัติและนำไปสู่การบริหารประเทศ ขณะเดียวกัน นายสนธิญา กล่าวอีกว่า ที่มาของ สส.จะต้องถูกต้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรณีของ นายพิธา มีปัญหาเรื่องการถือหุ้นสื่อ โดยไม่ได้กำหนดไว้ว่าเท่าไหร่ วันนี้เรียกร้องตรงไปยัง นายพิธา และพรรคก้าวไกล ขาดความชอบธรรมในการถูกเสนอชื่อไปเป็นนายกฯ กกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียนของสมาชิก สส.เพื่อรับร้องให้ครบ 95% หรือ 476 คน จาก 500 คน จากนั้นจะเปิดสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ ก็จะทำหน้าที่เรียก สส.และ สว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จึงอยากถามว่าหาก กกต.ส่งรายชื่อ นายพิธา ที่มีข้อร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ จะเสนอชื่อนายพิธา เพื่อเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะเมื่อ กกต.ยื่นเรื่องนายพิธา ไปสู่ศาลก็จะเป็นกรณีเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยถูกยื่นเรื่องร้องเรียนไปสู่ศาลแล้วถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หากประธานสภาฯ เสนอชื่อขึ้นไปเพื่อโปรดเกล้าเป็นายกฯ จังหวะเดียวกันกับที่ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัย ประเทศไทยจะมีช่องว่างของอำนาจเพราะการจะทูลเกล้าฯ ต้องอยู่หลังศาลวินิจฉัยให้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะผู้ร้อง แต่เป็นเพราะนายพิธา ไม่จัดการตัวเองให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเรื่องนี้ นายพิธาถูกร้องเรียนโดยนายเรืองไกร และเลขาธิการ ปปช แถลงข่าวแล้วว่านายพิธา ถือหุ้นจริง ก็จะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายว่ากรณีของนายพิธา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับการโกรธเคืองใครเป็นพิเศษ