Gen Y จ่ายหนี้ช้ากว่าคนรุ่นอื่น

วันที่ 24 พ.ค. 2566 เวลา 15:31 น.

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด วันนี้จะมากล่าวถึงกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP (ระดับรายได้ของประเทศ) สูงกว่า 85% ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง มูลค่าหนี้ครัวเรือนมีการเติบโต พร้อมๆ กับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ กลุ่มลูกหนี้ประเภทที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในที่นี้ คือ ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดแต่ยังไม่ได้เป็นหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ ในระบบการเงินการธนาคาร เรียกลูกหนี้กลุ่มนี้ว่า ลูกหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mentioned)  ตามข้อมูลจากบริษัทเครดิตบูโรแห่งชาติ มูลค่าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีอยู่ 2.37 ล้านบัญชี รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยกระจายอยู่ใน Generation ต่างๆ ดังนี้ - Generation ที่มีหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ มากที่สุด ได้แก่ Gen Y (กลุ่มที่เกิดในช่วงปี 2524-2539 หรือ อายุ 27-42 ปี)  ซึ่งเป็นวัยทำงานช่วงต้น ร้อยละ 52 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงพิเศษทั่วประเทศ อยู่ในกลุ่ม Gen Y ซึ่งเท่ากับร้อยละ  48 ของมูลค่าสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงพิเศษทั่วประเทศ (ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท) - รองลงมา คือ Gen X (กลุ่มที่เกิดในช่วงปี 2508-2523 หรือ อายุ 43-58 ปี)  มีจำนวนบัญชีที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด อยู่ร้อยละ 32 ของจำนวนบัญชีที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ จะเท่ากับร้อยละ  35 ของมูลค่าสินเชื่อทั่วประเทศที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) - ถัดมา คือ Gen Baby Boom (กลุ่มที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 หรือ อายุ 59-77 ปี)  มีจำนวนบัญชีอยู่ ร้อยละ 10 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด และคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ จะเท่ากับร้อยละ  14 ของมูลค่าสินเชื่อทั่วประเทศที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด - ลำดับสุดท้าย คือ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดในช่วงปี 2540-2555 หรือก็คืออายุไม่เกิน 26 ปี ทำให้ยังมีสัดส่วนสินเชื่อน้อยเมื่อเทียบกับคนในรุ่นทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีอยู่ถึงร้อยละ 6 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด ======= เมื่อแยกตามสถาบันการเงิน จากรายงานจากบริษัทเครดิตบูโรแห่งชาติ พบว่า ลูกหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร โดยเป็นบัญชีกับธนาคารพาณิขย์อยู่ 34% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 28% ตามมาด้วยธุรกิจประเภทลิซซิ่ง  21% และประเภทที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (เช่น บริษัทบัตรเครดิต) อีก 17%    แต่หากคิดในรูปของมูลค่าหนี้แล้ว เป็นมูลค่าหนี้ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ 43% (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 41% (ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท) บริษัทลิซซิ่ง 13% และอยู่กับธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคอีก 3% ====== เมื่อพิจารณาประเภทสินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มลูกหนี้เสี่ยงเหล่านี้ พบว่า มีมากกว่า 1.04 ล้านบัญชีที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (หรือที่เรียกกันว่า Personal Loan เช่น กู้ยืมไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รถ ทำการเกษตร และไม่รวมหนี้บัตรเครดิต) หรือคิดเป็น ร้อยละ 44 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีมูลค่าสินเชื่อประมาณเกือบ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ  26 ของมูลค่าสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงพิเศษทั่วประเทศ สินเชื่อส่วนบุคคลนี้ ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่ม Gen Y แต่ประเภทสินเชื่อที่มีมูลค่าสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษมากที่สุด คือ สินเชื่อยานพาหนะ (Auto Loan) เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ เป็นต้น มีมูลค่าสินเชื่อที่จัดอยู่ในกลุ่มถูกกล่าวถึงพิเศษสูงถึง 1.92 แสนล้านบาท (ร้อยละ 32) และมีอยู่ประมาณ 5 แสนบัญชี (ร้อยละ  21 ของมูลค่าสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงพิเศษทั่วประเทศ) ทั้งนี้ กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่ก่อหนี้ซื้อรถมากกว่าคนรุ่นอื่น ในขณะที่ มีเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด เป็นบัญชีสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (ประมาณ 1.2 แสนบัญชี) แต่มีมูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 1.62 แสนล้านบาท (มากกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล) โดยมีกลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่ก่อหนี้อสังหาริมทรัพย์มากกว่าคนรุ่นอื่น แม้จะมีกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตที่ชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนด ประมาณ 1.7 แสนบัญชี แต่มีมูลค่าสินเชื่อรวมเพียง 6 พันล้านบาท (ร้อยละ 1 ของจำนวนบัญชีสินเชื่อที่มีการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด) โดยพบว่าคนที่มีอายุ 38-43 ปีมีบัญชีบัตรเครดิตมากกว่าคนในช่วงอายุอื่น ====== นอกจากนี้ สถิติจากบริษัทเครดิตบูโรแห่งชาติ ยังพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้สูญของประเทศ (3.5 แสนล้านบาท) อยู่กับกลุ่ม Gen Y โดยมีสัดส่วนหนี้สูญต่อมูลค่าหนี้ในลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่ที่ 6.2% (เท่ากับสัดส่วนหนี้สูญของ Gen X) โดยมีสัดส่วนลูกหนี้ที่มีหนี้สูญต่อจำนวนลูกหนี้ สูงสุด อยู่ในกลุ่มอายุ 29 ปี (อยู่ที่ 27%) ====== สรุป จากสถิติข้างต้น เราอาจเรียงลำดับความเสี่ยงได้ดังนี้ - ตามอายุลูกหนี้ ก็จะพบว่า Gen Y เป็นกลุ่มที่ควรระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากที่สุด - ตามประเภทสินเชื่อ ก็จะพบว่า สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นกลุ่มที่ควรระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากที่สุด โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันหรือมีหลักประกันต่ำ ในขณะที่ กลุ่มสินเชื่อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ก็ควรควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะมูลค่าหนี้ที่มีความเสี่ยงในขณะนี้ รวมแล้วสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลอีก มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากจะเร่งลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว อาจต้องเร่งจัดการกับการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เพื่อป้องกันการเติบโตของหนี้สูญในอนาคต