ปักหมุดของดีทั่วไทย : ผ้าปะลางิง ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่งานผ้าระดับสากล จ.ยะลา

วันที่ 24 พ.ค. 2566 เวลา 07:16 น.

สนามข่าว 7 สี - ปัจจุบันผ้าพื้นถิ่นได้รับความสนใจ และการส่งเสริมให้เป็นชุดประจำภาคกันมากขึ้น อย่างผ้าปะลางิง ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณของจังหวัดยะลา ที่ถูกรื้อฟื้น และพัฒนาจนกลับมาได้รับการยอมรับและสวมใส่กันมากขึ้น และที่สำคัญยังสร้างชื่อเสียงไปสู่ระดับสากล กลายเป็นที่น่าภาคภูมิใจ และเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดยะลา ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา ปักหมุดของดีทั่วไทยวันนี้ พาคุณผู้ชมลงใต้มาที่จังหวัดยะลา มาดูเรื่องราวของลวดลายจากผ้าปะลางิง ของกลุ่มศรียะลาบาติก ที่มีการใช้อัตลักษณ์พื้นถิ่นดั้งเดิม ที่ถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่สูญหายไปกว่า 80 ปี เป็นการวาดลวดลายบนเนื้อผ้า ด้วยปากกาเขียนเทียน ร่วมกับการใช้บล็อกไม้จากธรรมชาติ กลายเป็นที่รู้จักเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อย่างทรงคุณค่า ปัจจุบันความรู้และเทคนิคการเขียนลวดลายผ้าปะลางิง ถูกถ่ายทอดและส่งต่อไปสู่ชุมชนในหลายกลุ่ม จากศิลปินชั้นครู อย่างอาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ที่นำภูมิปัญญานี้มาถ่ายทอด ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ผ่านการรังสรรค์ ทั้งการเย็บ และออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์เสื้อ-ผ้าชื่อดัง กระทั่งถูกคัดเลือก และได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย ผ้าปะลางิง นอกจากเป็นงานศิลปะแล้ว อัตลักษณ์การลงสีเติมภาพ ก็เป็นลักษณะที่โดดเด่น เพราะเป็นการใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วยบล็อกไม้ ที่ผ่านการแกะสลักเป็นลวดลาย สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผูกโยงเกี่ยวพันทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงด้านศาสนา จนเกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญา ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายบนผ้าบาติก นอกจากความสวยงามในแบบของผ้าแล้ว ยังเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีตและต้องใช้เวลา อีกทั้งเรื่องราวบนเนื้อผ้าแต่ละผืน ก็มีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ที่สำคัญภาครัฐเอง ยังส่งเสริมและสนับสนุน ให้แต่งกายเป็นชุดประจำถิ่นเพิ่มมากขึ้น จนมีคณะศึกษาดูงานทั้งในและนอกพื้นที่ ต่างแวะเวียนศึกษาไม่ขาดสาย ปัจจุบันลายผ้าปะลางิง มีลวดลายใหม่ ๆ ที่ได้จากในพื้นที่เพิ่มมากกว่า 200 แบบ ซึ่งมีเรื่องราวที่ต่างกันไป กลายเป็นการแต่งกายร่วมสมัย นำไปสู่ความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชนชายแดนใต้ได้อย่างมั่นคง