สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผยผลวิจัยนานาชาติ “กัญชา ” เสพแล้วมีแต่ยิ้มไม่จริง! แต่กลับพบว่ากัญชา เป็นชนวนทำคนคลั่ง ซ้ำมีโอกาสป่วยซึมเศร้า 2.34 เท่า

วันที่ 24 มี.ค. 2566 เวลา 19:55 น.

วันนี้ (24 มี.ค. 66) สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (สจท.) เผยแพร่ประกาศ ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับผลของกัญชาต่อปัญหาทางจิต และการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยระบุว่า ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลของกัญชาต่อปัญหาทางจิต ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงเห็นควรให้มีการนำเสนอความรู้ทางการแพทย์ในเรื่องนี้ ความเชื่อ 1: กัญชาใช้รักษาโรคหรืออาการทางจิตเวชได้ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ความจริง 1: กัญชานอกจากไม่สามารถใช้รักษาโรคทางจิตเวชได้แล้ว ยังเป็นต้นเหตุของโรคทางจิตเวชอีกด้วย โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชชนิดรุนแรง ตัวอย่างของหลักฐานทางการแพทย์ที่สำคัญ คือ 1.1 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่ากัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาสามารถใช้รักษาโรคทางจิตเวชได้แม้แต่โรคเดียว และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนดอกกัญชา (สำหรับสูบ) สำหรับการรักษาโรคใดๆ (American Psychiatric Association, 2019) 1.2 คู่มือการวินิจฉัยโรคจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์กัญชาระบุอย่างชัดเจนว่า กัญชาทำให้เกิดโรคทางจิตเวชเหล่านี้ได้ (American Psychiatric Association, 2013) (ก) ภาวะคลุ้มคลั่งหรือเพ้อคลั่ง (delirium) และโรคจิต (psychotic disorders): สับสน ไม่รู้สภาพแวดล้อม ไม่รู้ตัว หูแว่ว หวาดระแวง และอาการทางจิตเวชต่างๆ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ (ข) โรควิตกกังวล (anxiety disorders) และโรคของการนอน (sleep disorders): วิตกกังวล แพนิค นอนไม่หลับหรือหลับมาก 1.3 ผลการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีโอกาสป่วยเป็นโรคทางจิตเวชมากกว่าคนที่ไม่ใช้กัญชา 2.73 เท่า,โรควิตกกังวล 2.43 เท่า, โรคซึมเศร้า 2.34 เท่า และโรคจิตเวชชนิดรุนแรง (เช่น โรคจิต โรคอารมณ์สองขั้ว) 6.41 เท่า (Keerthy et al., 2021) เมื่อตัดข้อมูลของผู้ที่ใช้เฮโรอีน โคเคน และแอมเฟตามีนออกแล้ว ค่าความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเหล่านี้ก็ยังคงใกล้เคียงเดิม ความเชื่อที่ 2: ผู้ที่เสพกัญชามักอารมณ์ดีไม่ทำร้ายใคร ความจริง 2: ไม่เป็นความจริง กัญชาก็เช่นเดียวกับยาเสพติดอื่นที่อาจทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้มและเป็นสุขขณะเสพ แต่ผู้เสพจำนวนมากมีพฤติกรรมรุนแรงจากผลเฉียบพลัน และระยะยาวของกัญชาได้ดังนี้ 2.1 ผลเฉียบพลัน ดังกล่าวแล้วในข้อ 1.2 (ก) กัญชาทำให้เกิดภาวะคลุ้มคลั่งหรือเพ้อคลั่ง ประสาทหลอน และโรคจิตได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อาจทำร้ายผู้อื่น และจะเป็นอันตรายมากหากมีอาวุธอยู่กับตัว 2.2 ผลระยะยาว จากการศึกษาแบบ meta-analysis ของ 30 การวิจัยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีจำนวน 296,815 ราย เมื่อผู้วิจัยได้ตัดปัจจัยรบกวนต่างๆ แล้ว (เช่น การใช้ยาเสพติดอื่นร่วมด้วย) ผลการศึกษาก็ยังสนับสนุนว่าการใช้กัญชาเพิ่มพฤติกรรมทำร้ายร่างกายผู้อื่นประมาณ 2 - 3 เท่า (Dellazizzo et al., 2020) ผลการศึกษานี้ยังคงเดิม เมื่อมีการควบคุมตัวแปรที่สำคัญแล้ว เช่น การใช้สารเสพติดอื่น จากการที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนื่องๆ จนทำให้เกิดผลเสียตามมา สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอเสนอให้มีการจัดการการใช้กัญชาทางการแพทย์ดังนี้ 1. กัญชาทางการแพทย์ควรถูกใช้หรือสั่งจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น 2. การปลูก สกัด ครอบครอง จำหน่าย และสั่งใช้กัญชา ควรถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ความเคร่งครัดของการควบคุมควรอยู่ในระดับเดียวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่นๆ (เช่น ยานอนหลับ) หรือยาเสพติดให้โทษ (เช่น มอร์ฟีน) 3. ไม่ควรอนุญาตให้มีการปลูกและใช้กัญชาในครัวเรือน