ดับคาหม้อชาบู แพทย์เผยหัวใจล้มเหลว จ.สมุทรปราการ

วันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 06:06 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - กรณีหนุ่มอายุ 27 ปี กินชาบูกับครอบครัว แล้วเกิดอาหารติดคอ เสียชีวิต ล่าสุด หมอยืนยันไม่ใช่หมูติดคอ แต่อาการจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ด้านหมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ได้ออกมาเตือนว่าหลอดลม-หลอดอาหาร อยู่ใกล้กันมากกว่าที่คิด พร้อมแนะ 5 วิธีเลี่ยงการสำลักอาหาร และวิธีช่วยชีวิตที่ไม่ใช่ CPR กรณีเหตุการณ์ช็อกคาวงอาหาร ภายในบ้านพักหลังหนึ่งในอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่สมาชิกภายในบ้านกำลังร่วมวงรับประทานอาหาร อยู่ ๆ ชายวัย  27 ปี เกิดมีอาหารติดในลำคอ ทำให้ช็อกหายใจไม่ออกและหมดสติ โดยทางญาติรีบโทรแจ้ง 1669 ทันที จากนั้นไม่ถึง 5 นาที อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมกู้ชีพโรงพยาบาลบางบ่อ เข้าให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาล ก่อนจะเคลื่อนย้ายส่งโรงพยาบาลบางบ่อเป็นการด่วน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ท่ามกลางความตกใจและความเสียใจของครอบครัว ล่าสุด แพทย์ยืนยันผลการชันสูตรศพ พบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากอาการหมูติดคอ แต่เป็นการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ด้านเพจ Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ โพสต์ภาพช่องปาก ซึ่งมีหลอดอาหารและหลอดลม ประกอบการให้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อเป็นหลักการป้องกันอาหารติดคอ สำลักอาหาร โดยระบุว่า หลังกลืนอาหารเข้าปาก ในคอเรามี 2 ทาง คือ ทางเข้าหลอดลมและทางเข้าหลอดอาหาร โดย 2 รูนี้ อยู่ใกล้กันมากกว่าที่คิด ทำให้บางครั้งอาหารสำลักเข้าหลอดลม เกิดภาวะหลอดลมอุดตันเฉียบพลันได้ หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ยังได้ให้คำแนะนำเบื้องต้น ป้องกันอาหารติดคอ คือ อย่ากินไปคุยไป, ไม่หัวเราะเวลากิน, กินคำไม่ใหญ่, เคี้ยวก่อนกลืน, เลี่ยงอาหารที่ติดคอง่าย เช่น หมึกช็อต ก้างปลา กระดูก เมนูเส้นที่ยาวๆ ผักเคี้ยวยาก เมล็ดผลไม้ และรู้วิธีช่วยคนสำลักด้วยวิธี Heimlich maneuver ซึ่งไม่ใช่วิธีกู้ชีพ CPR ขอบคุณภาพจาก : Facebook Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ