รวบวันเพ็ญเจ้าแม่แชร์ทอง 61 หมายจับ ไร้เงา 2 ปี สุดท้ายเกมเพราะ หนังควาย

วันที่ 18 มี.ค. 2566 เวลา 11:47 น.

ผบ.ตร.ส่งชุด PCT5 รวบวันเพ็ญเจ้าแม่แชร์ทอง  61 หมายจับไร้เงากว่า 2 ปี สุดท้ายเกมเพราะ ตำรวจตามสืบ จากเมนูโปรด หนังควาย จนทราบที่กบดาล พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.  สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.  หน.ชุด PCT5 นำกำลังสืบสวนแกะรอย น.ส.วันเพ็ญ หรือ กวินา หลังก่อเหตุฉ้อโกงประชาชนด้วยการหลอกลวง “ขายทอง” จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับไว้กว่า 26 หมายจับ ต่อมาได้รับประสานงานพบหมายจับศาลอีกกว่า 35 หมายจับ รวม 61 หมายจับ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 360 ล้านบาท เหยื่อผู้เสียหายกว่า 200 รายทั่วประเทศ ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 37 ล้านบาท หลังจากหายตัวไปชนิดที่เรียกได้ว่า “ไร้เงา” มาเป็นเวลากว่า 2 ปี ล่าสุดเจ้าหน้าที่ชุด PCT5 ร่วมกับ สืบนครบาล แกะรอยกว่า 1 ปีจนพบเบาะแส แหล่งกบดานเป็นเซฟเฮ้าส์ลับ ในชนบทใกล้เขาใหญ่ ในพื้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ก่อนเข้าทำการจับกุมตัว ได้วานนี้ (17 มี.ค.66)    ในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” พร้อมทั้งตรวจยึด โทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง (พบข้อมูลการตั้งวงแชร์อีกหลายวง)  สมุดบันทึก จำนวน 1 เล่ม  และ ซองใส่ซิม จำนวน 5 ชิ้น พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2564 น.ส.วันเพ็ญ หรือ กวินา ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงทุนในการ “ขายทอง” อ้างว่าจะนำทองมาจากต่างประเทศ สามารถสั่งนำเข้ามาได้ในราคาเพียงบาทละ 3,000-4,000 บาท ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปมาก ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อและโอนเงินมาร่วมลงทุน ซึ่ง น.ส.วันเพ็ญ มีการส่งทองหรือจ่ายเงินตอบแทนให้กับผู้สั่งซื้อหรือร่วมลงทุนใน 2-3 ครั้งแรก ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยร่วมลงทุนเดิมและยัง “ปากต่อปาก” ทำให้มีคนหน้าใหม่ สนใจร่วมลงทุนยิ่งขึ้น เมื่อ น.ส.วันเพ็ญฯ ได้เงินก้อนใหญ่ ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 37 ล้านบาท เหยื่อผู้เสียหายกว่า 200 รายทั่วประเทศ ต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และ น.ส.วันเพ็ญ ก็มีหมายจับ 61 หมายทั่วประเทศ จากการติดตามของเจ้าหน้าที่พบว่า น.ส.วันเพ็ญ ไม่มีการเคลื่อนไหวในการทำธุรกรรม จนมีการแกะรอยจนทราบว่า ไปกบดานในพื้นที่  จ.สระบุรี โดยมี “ลูกน้อง” คอยเป็นผู้ทำธุรกรรมต่างๆให้เพื่ออำพรางการใช้ชื่อตนเอง  แต่ต่อมาชุด PCT5 ได้พบเบาะแสสำคัญจากร้านอาหารในละแวกพื้นที่กบดาลคือ “หนังควาย” ซึ่งเป็นอาหารที่ น.ส.วันเพ็ญฯ ชอบทาน จนนำมาสู่การสืบทราบว่า น.ส.วันเพ็ญ อยู่ใน “เซฟเฮ้าส์ลับ” มีรั้วสูงล้อมรอบมิดชิด ภายในชนบทใกล้เขาใหญ่ จึงทำการดักซุ่ม จน น.ส.วันเพ็ญ  ออกมาจากรั้วเซฟเฮ้าส์ลับ ถึงแม้จะปิดบังอำพรางตัว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจดจำลักษณะท่าทางได้ จึงเข้าแสดงหมายจับกุมตัว    ในชั้นจับกุม น.ส.วันเพ็ญ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า ได้เริ่มชักชวนคนใกล้ตัว และคนอื่น ให้มาร่วมวงแชร์ทางออนไลน์ จนเดือนต.ค. 2563 ได้เปิดวงแชร์ใหม่ลักษณะออมทอง คือ ให้ผู้ลงทุนลงเงินก่อน เป็นเงินที่ถูกกว่าราคาทองจริง เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นจะส่งทองให้จำนวน 1 บาท ช่วงแรกสั่งซื้อทองที่ห้างทองสุพรรณ ในราคาประมาณ 28,000 บาท แต่ประกาศสามารถออมทองได้ในราคาเพียง 24,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่ขาดทุนเท่าไหร่ เพราะคนลงออมทองต่อเนื่อง ยังมีเงินไปซื้อทองราคาเต็มมาจัดส่ง แต่ประมาณต้นปี 2564  เริ่มเกิดปัญหา เนื่องจากไม่สามารถหาผู้ลงทุนใหม่ๆ มาลงทุนต่อได้ จึงได้เริ่มลดราคาโดยเปิดให้เริ่มออมทองในราคาบาทละ 8,000 บาท จากราคาเต็มประมาณ 30,000 บาท(ในขณะนั้น) เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจ และก็ได้มีผู้มาร่วมลงเงินออมทองจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถหมุนเวียนเงินได้ เพราะต้องนำเงินมาทบยอดไปมา ทำให้ลูกค้าหลายคนไม่ได้ทอง จึงเกิดการแจ้งความ จึงย้ายที่อยู่ เปลี่ยนชื่อ นามสกุล เพื่อหลบหนี              พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การร่วมลงทุนในโลกออนไลน์นั้นมีความเสี่ยง   สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการระดมปราบปรามผู้กระทำผิดทางออนไลน์อยู่ตลอด ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ฉะนั้นผู้ที่ยังทำหรือคิดจะทำขอเตือนว่า มันไม่คุ้มได้คุ้มเสีย เมื่อได้ลงมือก่อเหตุ